“เมื่อเราคิดถึงคุก เรามักคิดถึงผู้ชาย เพราะคุกถูกออกแบบโดยผู้ชาย สร้างโดยผู้ชาย และเพื่อผู้ต้องขังชาย”
นี่คือประโยคสรุปรวบยอดที่ ชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพ และการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์กรมหาชน) (TIJ)กล่าวถึงปัญหาของเรือนจำไทยในมิติที่เกี่ยวโยงกับเรื่องเพศสภาวะ
ในโลกนอกกำแพงเรือนจำ เราทุกคนตระหนักและรู้ดีว่า ผู้ชายกับผู้หญิงมีความต้องการที่แตกต่างกัน อย่างน้อยที่สุดก็ในเชิงกายภาพที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตจริง เช่น การมีประจำเดือน หรือการตั้งครรภ์ เป็นต้น
หากแต่ความแตกต่างที่ว่ากลับเสมือนถูกลบเลือนหายไป เมื่อพูดถึงชีวิตหลังกำแพงคุก ตัวอย่างรูปธรรมชัดเจนที่สุดคือ ผู้ต้องขังหญิงจำนวนหนึ่งต้องอุ้มท้องและคลอดในเรือนจำ โดยที่สภาพแวดล้อมในเรือนจำไม่ได้เอื้ออำนวยมากนัก แต่ถ้าจะพูดให้ถึงที่สุด ผู้หญิงและผู้ชายนั้นแตกต่างกันตั้งแต่เส้นทางเข้าสู่เรือนจำอยู่แล้ว
ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะผู้ชายเลวทรามต่ำช้ากว่าผู้หญิง หรือผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย แต่เป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมมีความผิดปกติและบิดเบี้ยว ระบบยุติธรรมที่ไม่อ่อนไหวกับเพศสภาวะจึงไม่อาจอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นจริงได้ในสังคม
101 ขอพาคุณสำรวจเส้นทางสู่เรือนจำของผู้หญิงและชีวิตหลังเรือนจำ ผ่านบทสนทนากับชลธิช ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการวิจัยล่าสุด3 ชุด ได้แก่ เพศภาวะและเส้นทางสู่เรือนจำในประเทศไทย และ Women’s Pathways to Prison in Kenya ซึ่งศึกษาเส้นทางสู่เรือนจำของผู้หญิงในประเทศเคนยา และงานวิจัยชุด เหยื่อที่มองไม่เห็น ซึ่งศึกษาผลกระทบของเด็กที่เกิดในเรือนจำ เพราะแม่ตั้งครรภ์ระหว่างติดคุก
เปิดหู เปิดตา และที่สำคัญ เปิดใจของคุณให้พร้อม เรากำลังพาคุณเข้าสู่เรือนจำ
งานวิจัยเรื่อง ‘เพศภาวะและเส้นทางสู่เรือนจำ’ ตั้งคำถามสำคัญอะไรไว้ และคำถามที่ว่าสำคัญอย่างไรในบริบทของกระบวนการยุติธรรมไทย
ในช่วง 10-20ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับปรากฏการณ์โลกด้วย ประเด็นสำคัญที่อยากทำความเข้าใจคือ ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์นี้ อีกอย่างหนึ่งคือ แต่เดิมกระบวนการยุติธรรมจะมีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเราคิดถึงคุก ก็จะคิดถึงผู้ชาย ส่วนผู้หญิงมีแค่หลักร้อยหลักพันเท่านั้น แต่ ณ วันนี้ผู้หญิงมีจำนวนเพิ่มขึ้น คำถามสำคัญที่กระบวนการยุติธรรมควรทำความเข้าใจคือ มีผู้หญิงกลุ่มไหนเข้ามาอยู่ในกระบวนการนี้บ้าง
ความเข้าใจเรื่องเส้นทางการเข้าสู่เรือนจำ เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับผู้ออกแบบนโยบาย ผู้ที่มีหน้าที่กำหนดโทษ หรือแม้แต่ผู้ที่มีหน้าที่แก้ไขฟื้นฟูผู้หญิง เพราะถ้าเราไม่เข้าใจว่าผู้หญิงกลุ่มนี้เป็นใคร มาจากไหน เราก็จะไม่สามารถออกแบบนโยบายแก้ไขที่สอดคล้องกับความต้องการของเขาได้
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้ต้องขังหญิงเพิ่มขึ้นคือตอนไหน
จุดเปลี่ยนสำคัญของปริมาณผู้ต้องขังในภาพรวม เกิดขึ้นในช่วงสงครามยาเสพติด ในยุครัฐบาลคุณทักษิณ โดยก่อนหน้านั้นก็เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำมาก่อน พอมีนโยบายเกี่ยวกับยาเสพติดออกมา มีการจับ ปราบปรามคนทำผิดมาลงโทษ จำนวนผู้ต้องขังทั้งหญิงและชายจึงเพิ่มขึ้น แต่นโยบายนี้กระทบกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะถ้าดูสถิติเรือนจำแล้วจะเห็นว่า มีผู้หญิงประมาณ 80% ที่ต้องเข้าคุกเพราะคดียาเสพติด ขณะที่ผู้ชายมีจำนวน 60-70% เพราะฉะนั้น War on Drug อีกนัยยะหนึ่งคือ War on Women ด้วยเช่นกัน
ตอนที่ออกแบบงานวิจัย ตั้งใจจะทำทุกประเภทคดี แต่ด้วยความที่ผู้ต้องขังหญิงที่เข้าสู่เรือนจำเพราะคดียาเสพติดเป็นกลุ่มใหญ่ บทแรกจึงพยายามเน้นกลุ่มคดียาเสพติดก่อน แต่ก็มีแผนจะทำต่อเนื่องไปในผู้หญิงกลุ่มอื่นด้วย
เราได้ข้อมูลพื้นฐานจากตอนรวบรวมวรรณกรรมว่าในประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศตะวันตกที่มีการทำวิจัยเยอะ ผู้หญิงกับผู้ชายมีเส้นทางการเข้าสู่เรือนจำที่แตกต่างกัน ประเด็นสำคัญคือ ประเภทคดีของผู้หญิงรุนแรงน้อยกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจะไม่ค่อยก่อคดีที่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เช่น ฆ่า ข่มขืน หรือทำร้ายร่างกาย แต่ส่วนใหญ่เข้าคุกเพราะปัญหาชีวิต หรือโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงการศึกษา การงาน และอาชีพ ประกอบกับการที่ผู้หญิงต้องเลี้ยงดูลูกและครอบครัวด้วย นี่เป็นปรากฏการณ์ที่คิดว่าจะเจออยู่แล้ว เราเลยอยากรู้ว่า หากใช้กรอบที่ว่ามาออกแบบคำถามของงานวิจัย ข้อค้นพบที่ได้จะเหมือนหรือแตกต่างกับของต่างชาติ
ข้อค้นพบจากงานวิจัยเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจใหม่อย่างไร
เมื่อทำการศึกษาผู้หญิงในคดียาเสพติดของประเทศไทย พบว่าปัจจัยสำคัญของทั้งสองเพศ มาจากเรื่องของประสบการณ์ในวัยเด็กและภาวะทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนๆ หนึ่งก้าวพลาด ในแง่ของมิติทางเศรษฐกิจมีอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องของความจำเป็น เช่น พ่อแม่ต้องหาเงินมาเลี้ยงดูลูก กับอีกประเด็นคือเรื่องของความโลภ อยากมีอยากได้
ในแง่ประสบการณ์ช่วงวัยเด็กก็หลากหลาย ทั้งแบบที่พ่อแม่อาจจะไม่ได้ดูแลเท่าที่ควร กับแบบที่พ่อแม่เข้มงวดมากเกินไป จนทำให้เด็กทั้งหญิงและชายในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไม่อยากอยู่บ้าน เลยพยายามออกไปหาประสบการณ์กับโลกภายนอก แล้วก็เตลิดเปิดเปิงไป ใช้ยาเสพติด อยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมเกเร
ความแตกต่างสำคัญที่ส่งผลให้ผู้หญิงกระทำความผิด ซึ่งต่างจากผู้ชาย คือความอ่อนต่อโลกที่ทำให้พวกเธอถูกหลอกและถูกแสวงประโยชน์ได้ง่าย ผู้หญิงที่มีเส้นทางชีวิตลักษณะนี้ มักมีการศึกษาน้อยและขาดประสบการณ์ชีวิต บางคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเรื่องความงาม หรือบางคนถูกคนรักหลอกให้ขนยาเสพติดโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ งานวิจัยต่างประเทศยังมีประเด็น Battered Woman Syndrome คือกรณีผู้หญิงที่ถูกคู่ครองหรือสามีทำร้ายเป็นเวลายาวนาน จนทนไม่ไหวและต้องลุกขึ้นมาสู้หรือฆ่าสามี แต่งานวิจัยของเราเน้นที่คดียาเสพติด กรณีดังกล่าวจึงไม่ได้ปรากฏเด่นชัดขนาดนั้น
เมื่อมองไปที่กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัย พอจะบอกได้ไหมว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่เรือนจำ และคนที่มีฐานะยากจนกว่า มีโอกาสจะเข้าสู่เรือนจำได้มากกว่า
ถ้าดูในเชิงสถิติ รายได้เฉลี่ยของคนที่เข้าสู่เรือนจำมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางนั้น เพราะผู้ต้องขังในประเทศไทยกว่า50% มีรายได้น้อยกว่า 30,000บาทต่อปี ปัจจัยด้านเศรษฐกิจจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่อาจนำไปสู่การกระทำผิด
แน่นอนว่าคนที่มีทางเลือกในชีวิตน้อยกว่า จะมีความเสี่ยงในการหันเหไปทำอาชีพค้ายาที่ได้รายได้วันละเป็นหมื่นเป็นแสน โดยเฉพาะกรณีการค้ายาเสพติดข้ามประเทศ คนที่ขนยาข้ามประเทศไม่ใช่เอเย่นต์รายใหญ่ แต่คือชาวไร่ชาวสวนที่อยู่บริเวณชายแดน เพราะฉะนั้นก็มีความเสี่ยงสูงกว่า แต่สังคมชนชั้นกลางหรือในชุมชนเมืองก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน แต่อาจมาจากปัจจัยอื่น เช่น การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มียาเสพติดแพร่ระบาด หรือการอยู่ในสังคมที่คนรอบข้างใช้ยา
ถ้าบอกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าสู่เรือนจำ เราพอจะบอกได้ไหมว่า ถ้าคนไทยรวยขึ้นโดยเฉลี่ย ความเหลื่อมล้ำลดลง ปัญหาเหล่านี้จะเบาบางลงไปด้วย
อาจจะเป็นไปได้ คือความรวยกับความเหลื่อมล้ำแยกกัน ความรวยคือคุณมีเงินเท่าไหร่ แต่ความเหลื่อมล้ำอาจเป็นประเด็นสำคัญกว่า และจะนำไปสู่ความยากจนและความไม่ยุติธรรมในรูปแบบอื่น ดังนั้นในสังคมภายนอก หากเราลดความเหลื่อมล้ำลง เพิ่มการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา หรือสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้ ก็น่าจะช่วยป้องกันอาชญากรรมได้ในรูปแบบหนึ่ง
เพราะฉะนั้น นโยบายอาชญากรรมจึงต้องถูกพิจารณาควบคู่ไปกับนโยบายทางสังคมด้วย เพราะถ้าเรามีนโยบายทางสังคมที่ดี มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างการศึกษา ประกอบกับการที่เรามีนโยบายอาชญากรรมที่ดี โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด ที่มองตามความจริงว่าคนที่เข้ามาในเรือนจำเป็นผู้เสพ สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนคนเข้าสู่เรือนจำโดยไม่จำเป็นได้
ทีมวิจัยทำงานวิจัยคู่ขนานในเคนยา (Women’s Pathways to Prison in Kenya) ด้วย เราเรียนรู้อะไรจากเคนยาได้บ้าง
ปัญหายาเสพติดไม่ใช่ปัญหาหลักในเคนยา และเราไม่ได้มีโอกาสเก็บข้อมูลเยอะ จึงได้เก็บข้อมูลทุกประเภทคดีมา ซึ่งคิดว่ามีหลายประเด็นที่เราสามารถเรียนรู้ได้
คุกเป็นเหมือนภาพสะท้อน (reflection) ของสังคม เพราะฉะนั้นสังคมที่แตกต่างกัน ประชากรในคุกก็ย่อมมีลักษณะหรือเส้นทางที่แตกต่างกันด้วย ในกรณีของเคนยา เป็นประเทศที่มีรายได้น้อยกว่าไทย และมีปัญหาสำคัญคือเรื่องความรุนแรงในครอบครัว สองประเด็นนี้เป็นปัญหาใหญ่ของเคนยา
เพราะฉะนั้น เมื่อดูกลุ่มผู้ต้องขังหญิง ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกโครงสร้างทางสังคมกดทับเอาไว้ จะพบว่าผู้หญิงเคนยามักมาจากครอบครัวที่ยากจน รายได้น้อย หรือต้องทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย ผู้ต้องขังหญิงในเคนยาส่วนมากจึงทำความผิดฐานต้มเหล้าเถื่อน เพราะมันง่ายและสะดวกในสภาวะที่ผู้หญิงมีการศึกษาน้อย ต้องดูแลครอบครัว และหารายได้ในเวลาเดียวกัน
อีกกรณีหนึ่งคือเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว ผู้หญิงทุกคนที่ต้องโทษคดีฆ่าสามีตัวเองล้วนมีประสบการณ์ถูกซ้อม ถูกทำร้ายมาทั้งหมด ซึ่งนี่ก็สะท้อนภาพของสังคมภายนอกด้วย
จริงๆ มันวกกลับมาที่คำถามตอนต้นว่า หากเราจะแก้ไขคนกลุ่มน้อยของสังคมที่ก้าวพลาดแล้วไม่มีตัวเลือก จนต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ รัฐควรดูแลคนกลุ่มนี้ในประเด็นไหนบ้าง งานวิจัยทั้งในไทยและเคนยาได้ระบุแล้วว่าคนก้าวพลาดเพราะอะไร ข้อมูลเหล่านี้อาจนำไปใช้ป้องกันการกระทำผิด หรือใช้ดูแลผู้ต้องขังในช่วงระหว่างคุมขังได้ ข้อเสนอแนะจากการศึกษาในเคนยาคือ เรือนจำน่าจะมีโครงการช่วยเหลือเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว เพราะผู้ต้องขังกลุ่มนี้เป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิดในเวลาเดียวกัน
ข้อมูลเกี่ยวกับความช่วยเหลือควรจะไหลไปสู่เรือนจำให้ได้มากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้อาจจะเข้าไม่ถึงข้อมูลหรือเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือตอนอยู่นอกเรือนจำ บางคนอาจอยู่ห่างไกลพื้นที่หรือการเข้าถึงข้อมูล เพราะฉะนั้น เมื่อคนเหล่านี้มาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว กระบวนการยุติธรรมก็น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเส้นทางการออกไปใช้ชีวิตใหม่ได้
ถ้าคุกเป็นภาพสะท้อนสังคม แล้วสังคมไทยเป็นสังคมแบบใดหากมองผ่านคุก
สังคมไทยเป็นสังคมที่มีโครงสร้างซับซ้อนหลายแบบ หากมองผ่านคุก เรื่องแรกที่สะท้อนคือเรื่องของสังคมที่เคารพกันในเรื่องอายุ ความอาวุโส อีกเรื่องคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้คุมกับผู้ต้องขัง บางที่ยังให้ความสำคัญว่าผู้ต้องขังจะต้องย่อตัวและแสดงความเคารพเมื่อผู้คุมเดินผ่าน เป็นความสัมพันธ์แบบที่เราใช้กฎระเบียบปกครองและควบคุมคนที่อยู่ภายใต้การดูแล ถ้าผู้ต้องขังทำผิดก็จะมีบทลงโทษ
เรื่องนี้ในแง่หนึ่งก็สะท้อนวิธีคิดเรื่องคุกของสังคมไทย ในเชิงหลักการคุกมีสองนัยยะ นัยยะแรกคือเป็นที่ทำให้สังคมปลอดภัย เพราะกันคนที่สังคมมองว่าเป็นอาชญากรออกมา วิธีคิดแบบนี้ต้องการระเบียบและการปกครองที่เข้มงวด แต่อีกนัยยะหนึ่ง คุกเป็นที่แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดเพื่อให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้ามองจากมิติของการฟื้นฟู ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทุกอย่างเป็นTop-Down ใช้กฎระเบียบและระบอบของคุกในการกำหนดอาจใช้ไม่ได้ดีเสมอไป โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง
ในกรณีของไทย ผู้หญิงที่ทำความผิดในคดียาเสพติดมักมาจากการมีไว้ในครอบครอง บางทีมีไว้ใช้เอง ใช้กับแฟน กับเพื่อน พวกเขาไม่ใช่กลุ่มคนที่เลวร้าย รุนแรง หรือต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะฉะนั้น นอกจากการใช้กฎระเบียบแล้ว เรือนจำยังควรพยายามใช้ความเห็นอกเห็นใจ และพยายามทำความเข้าใจว่าคนเหล่านี้มีที่มาอย่างไร เพื่อจะได้ดูแลแก้ไขผู้ต้องขังหญิงได้อย่างถูกจุดมากขึ้น
เรือนจำที่ไม่เน้นความสัมพันธ์เชิงอำนาจหน้าตาจะเป็นแบบไหน
เป็นเรือนจำที่ให้ความสำคัญกับเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเท่าเทียมกัน มีความอะลุ่มอล่วยตามสมควร มีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้คุมและผู้ต้องขังตามพฤติกรรมของผู้ต้องขังแต่ละคน เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ต้องขังก็มองว่าผู้คุมไว้ใจเขา เขามีคุณค่าในตัวเอง และมีความพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวเอง
อีกอย่างหนึ่งคือจะต้องพยายามเข้าใจความต้องการเฉพาะด้านของแต่ละบุคคล เช่น เรื่องของการติดต่อกับครอบครัว บางเรือนจำเข้าใจว่าผู้ต้องขังมีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะคนเป็นแม่ที่ต้องติดต่อลูก เรือนจำควรเปลี่ยนแปลงภาพความน่ากลัวไปสู่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการแก้ไขฟื้นฟู อาทิ จัดให้มีการเยี่ยมแบบใกล้ชิดเป็นประจำ เปิดให้คนนอกเข้ามา มีการจับมือ กอด หอมแก้มกันระหว่างแม่กับลูก นี่คือสิ่งที่น่าจะเป็น
การปฏิรูปเรือนจำ หรือทำเรือนจำให้ดีขึ้นเป็นสิ่งที่ควรทำอยู่แล้ว คงไม่มีใครปฏิเสธ แต่ที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาผู้ต้องขังหญิง ควรเข้าไปทบทวนนโยบายบางอย่างหรือกฎหมายบางอย่างหรือไม่ เช่น นโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด
ใช่ นี่เป็นงานหนึ่งที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนอยู่ โดยจะมีการแก้กฎหมายยาเสพติดให้มีการจำแนกที่ละเอียดอ่อนกว่าเดิม คือไม่ได้ดูแค่ผู้ต้องหามียาเสพติดอยู่ในครอบครองเท่าไหร่ แต่ดูลึกลงไปอีกว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ขาย หากไทยทำได้เช่นนี้ ประกอบกับการมีศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาที่เข้ามาทำหน้าที่แทนเรือนจำได้ 80% ของผู้ต้องขังหญิงก็จะออกจากกระบวนการยุติธรรมไปสู่กระบวนการบำบัดที่เหมาะสมกว่า อันที่จริงไม่ใช่แค่ผู้ต้องขังหญิงเท่านั้น ผู้ต้องขังชายที่ต้องโทษเพราะคดียาเสพติดก็จะได้ประโยชน์ด้วย
อะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปนโยบายยาเสพติดเกิดขึ้นช้า หรือยังไม่เกิดขึ้นสักที
มีหลายปัจจัย กฎหมายยาเสพติดแก้ยากเพราะเป็นเรื่องกระบวนการทางความคิด (mindset) ของคนในสังคม เมื่อก่อนยาบ้าเคยถูกเรียกว่ายาม้าหรือยาขยัน คนเสพเพราะอยากขยัน คึก ทำงานได้ทั้งคืน แต่ต่อมา ยาม้าถูกเปลี่ยนชื่อเป็นยาบ้า ซึ่งสะท้อนถึงความกลัวต่อเม็ดแอมเฟตามีนของสังคม ประกอบกับการที่สื่อนำเสนอภาพลบเกี่ยวกับยาบ้าตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจึงเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ ยังมีโจทย์อื่นที่ต้องคิดเพิ่มด้วย เช่น เรื่องเชิงระบบที่จะมาดูแลคนเป็นแสนที่จะออกจากคุก ถามว่าระบบพร้อมหรือยัง ก็ยังไม่พร้อมขนาดนั้น ในการแก้ปัญหายาเสพติดที่สมบูรณ์ ยังควรมีผู้เล่นใหม่ คือกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องเข้าไปมีบทบาทในการช่วยบำบัดฟื้นฟูผู้เสพเหล่านี้ และหันเหพวกเขาออกจากกระบวนการยุติธรรม
ประเด็นศึกษาต่อเนื่องจากเรื่องผู้ต้องขังหญิงคือ การศึกษา ‘เหยื่อที่มองไม่เห็น’ ซึ่งหมายถึง เด็กที่ต้องได้รับผลกระทบจากการที่แม่เป็นผู้ต้องขัง โจทย์สำคัญของเรื่องนี้คืออะไร
เราพยายามดูในมิติของการใช้โทษจำคุกว่า การจำคุกจะสร้างผลกระทบอะไรให้กับสังคมในมิติอื่นๆ อีก ซึ่งจุดสำคัญที่เป็นความแตกต่างทางเพศ คือ ผู้หญิงส่วนใหญ่มีการตั้งครรภ์ คลอดลูก มีภาวะความเป็นแม่ที่ต้องเลี้ยงดูบุตร จึงมีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อแม่ไม่อยู่กับลูก แต่มาอยู่ในคุก ผลที่เกิดกับเด็กและคนรอบข้างมีอะไรบ้าง
งานวิจัยนี้ยังสืบเนื่องมาจากการสำรวจที่เคยทำ เกี่ยวกับว่าเมื่อแม่มาอยู่ในคุก แล้วลูกจะอยู่ที่ไหน ผลสำรวจส่วนใหญ่บอกว่าลูกจะอยู่กับตายายหรือครอบครัวฝั่งผู้หญิง แต่หากเปลี่ยนกลับไปดูว่า ถ้าพ่อไปอยู่ในคุก แล้วลูกจะอยู่ที่ไหน พบว่าลูกจะอยู่กับแม่หรือตายาย เท่ากับว่าเมื่อผู้หญิงติดคุก ตายายก็ต้องดูลูก ถ้าผู้ชายติดคุก ก็ยังเป็นผู้หญิงอยู่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าผู้หญิงมีบทบาทมากขนาดนี้ เราก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า ถ้าวันหนึ่งผู้หญิงไม่อยู่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก
งานวิจัยนี้คุยกับกรณีศึกษาจำนวนมาก เราพอจะเห็นรูปแบบ หรือจัดกลุ่ม หรือหาข้อสรุปจากกรณีศึกษาเหล่านี้ได้ไหม
มีกรณีศึกษาว่ากลุ่มเด็กที่โตมาโดยมีแม่อยู่ในเรือนจำเป็นอย่างไรบ้าง บางคนก็โตมาได้ บางคนก็เติบโตแล้วเผชิญกับบาดแผลบางอย่าง แต่จุดที่เป็นลักษณะเด่นของไทย หรือของประเทศในเอเชีย คือระบบครอบครัวขยาย ที่มีปู่ย่าตายายมาสนับสนุน มาเป็นเครือข่ายคอยดูแลเด็ก ทำให้เด็กเติบโตขึ้นได้ ซึ่งอาจจะต่างกับในต่างประเทศที่เมื่อแม่ถูกจำคุกแล้ว ลูกจะมีบาดแผลมากกว่าเพราะระบบครอบครัวไม่เข้มแข็ง
งานวิจัยนี้นำเสนอ 6 กรณีศึกษา แต่ละกรณีเป็นภาพตัวแทนของลูกซึ่งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีลักษณะสำคัญบางประการแตกต่างกัน แต่ต้องประสบภาวะวิกฤตแบบเดียวกันคือ มีแม่ติดคุก เด็กแต่ละกลุ่มจะมีการรับรู้ความรุนแรงในระดับและขอบเขตแตกต่างกัน
หลายคนอาจไม่รู้ว่า มีเด็กจำนวนหนึ่งที่แม่ตั้งครรภ์และคลอดในระหว่างที่ยังต้องโทษคุมขัง อยากให้ช่วยเล่าชีวิตของคนกลุ่มนี้ให้ฟังหน่อยว่าอยู่กันอย่างไร
เมื่อผู้ต้องขังตั้งครรภ์ เรือนจำจะจัดสวัสดิการดูแลให้ ในเรื่องของสถานที่จะมีห้องแม่และเด็ก และมีเรือนนอนแยกต่างหาก อย่างไรก็ตาม เมื่อคลอดก็จะไปคลอดที่โรงพยาบาล จะไม่มีใบเกิดของเด็กคนใดเขียนว่าเกิดในเรือนจำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเด็ก
ทัณฑสถานขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญในเรื่องแม่และเด็กมาก จะมีห้องที่มีนม มีแพมเพิร์ส มีสีสันมากกว่าห้องอื่นในเรือนจำ แม่กับลูกจะอยู่ด้วยกันในห้องนี้ ได้ให้นมลูก พอตกกลางคืน ทุกคนต้องขึ้นเรือนนอนและนอนในห้องขังหมด แต่หากมีพื้นที่มากพอก็จะแยกแม่กับเด็กออกไป แต่แม่จะได้นอนกับลูกของตนเสมอ
นอกจากประเด็นเรื่องสถานที่แล้ว บางเรือนจำจะมีไข่ กล้วย เป็นอาหารเสริมให้เด็ก แต่ถ้าไม่มี ผู้ต้องขังหญิงจะต้องรอญาติมาเยี่ยมและเอาอาหารเสริมมาให้เด็กเป็นการเพิ่มเติม
มีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกันว่า การที่แม่เลี้ยงดูลูกอาจจะทำให้แม่ขาดโอกาสฝึกอาชีพ บางที่จะมีการจัดหาผู้ต้องขังคนอื่นมาเป็นพี่เลี้ยงให้ชั่วคราว เพื่อให้แม่ได้ไปฝึกอาชีพ เป็นสภาพแวดล้อมที่ดี คือมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดูแลซึ่งกันและกัน
โดยปกติ เรือนจำแต่ละประเทศมีนโยบายให้เด็กอยู่ในเรือนจำได้ไม่เหมือนกัน ในไทยตามกฎหมายอนุญาตให้อยู่ได้3 ปี แต่ในทางปฏิบัติคือ 1 ปี บางประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ก็ไม่ให้เด็กเข้ามาอยู่ในเรือนจำเลย แต่บางประเทศ เช่น เยอรมนี อยู่ได้ 7 ปี เพราะฉะนั้น นโยบายแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป
อะไรคือจุดสำคัญว่าประเทศไหนควรกำหนดให้เด็กอยู่ในเรือนจำได้กี่ปี
หลายประเทศจะใช้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention of the Rights of the Child) อ้างอิง คือจะพูดเรื่องสิทธิและประโยชน์สูงสุดของเด็ก หากรัฐจะให้เด็กเข้ามาอยู่ในเรือนจำ อย่างน้อยรัฐต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น สถานที่ การดูแลสุขภาพเด็ก
ในกรณีของไทย แม้ในทางปฏิบัติจะให้เด็กอยู่ได้ 1 ปี แต่ก็สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น ถ้าเด็กโตเกิน 1ปีแล้ว แต่แม่เหลือเวลาอีก 4-5 เดือนจะพ้นโทษ บางเรือนจำก็จะอะลุ่มอล่วยให้เด็กอยู่กับแม่ก่อนได้ เพราะการส่งเด็กออกไปก่อนจะมีความเสี่ยง บางเรือนจำใช้เหตุผลด้านมนุษยธรรม (Humanitarian reason) ว่าสุดท้ายแล้วเด็กจะอยู่ที่ไหน ก็เป็นอำนาจของผู้บัญชาการเรือนจำด้วยระดับหนึ่ง
ในกรณีของไทย ทำไมถึงให้เด็กอยู่ในเรือนจำได้ 1 ปี
เจ้าหน้าที่เรือนจำหลายแห่งมองว่า เด็กจะเริ่มมีพัฒนาการบางอย่างหลังจาก 1ปี คือเป็นช่วงเริ่มเรียนรู้ เป็นขวบวัยที่เด็กจะมีพัฒนาการเติบโตด้านสมอง ความจำ หากเด็กบางคนใช้เวลาอยู่ในเรือนจำนานเกินไปจะเป็นผลร้าย เช่น เด็กที่อยู่ในเรือนจำหญิงจะไม่เคยเห็นผู้ชาย และจะกลัวเวลาผู้ชายเดินผ่าน เพราะฉะนั้นเพื่อประโยชน์แก่การพัฒนาการของเด็ก เรือนจำในไทยจึงคิดว่า 1 ปีเป็นขวบวัยที่เหมาะสม
มีข้อสรุปทางวิชาการไหมว่า เด็กควรอยู่กับแม่ต่อไป หรือควรจะออกมาอยู่ข้างนอก
ไม่มีงานวิจัยใดมาสรุปโดยเฉพาะ แต่อย่างน้อย ข้อสรุปที่หลายฝั่งเห็นตรงกันคือ ไม่ว่าเด็กจะอยู่กับแม่หรือจะอยู่ข้างนอก สิ่งที่กระบวนการยุติธรรมควรรักษาไว้คือ การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูก หากเด็กอยู่นอกเรือนจำ เรือนจำก็ควรจัดกระบวนการให้เด็กเข้ามาพบแม่ได้บ่อยๆ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกถึงระยะห่างระหว่างแม่กับตนเองมากจนทำลายความสัมพันธ์
มีข้อเสนอแนะอะไรเกี่ยวกับการให้เด็กมาเยี่ยมแม่ในเรือนจำ
สิ่งที่จำเป็นและอยากให้มีการเปลี่ยนแปลงคือ ถ้าเป็นกรณีของเด็กที่พ้นจากเรือนจำไปแล้ว หรือกรณีลูกผู้ต้องขังที่อาศัยอยู่ข้างนอก เราจะมีมาตรการเยี่ยมอย่างไรให้เป็นมิตรกับเด็ก และเกิดขึ้นถี่พอที่แม่กับลูกจะยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพื่อแม่กับลูกจะไม่ใช่คนแปลกหน้าต่อกันเมื่อผู้หญิงออกจากคุกแล้ว ตรงนี้คือสิ่งที่สำคัญมาก เพราะแม้เรือนจำหลายแห่งจะเปิดให้เด็กเข้าเยี่ยมได้ แต่สภาพของเรือนจำไม่เอื้ออำนวยต่อการเยี่ยม ทั้งการที่เด็กต้องนั่งรอเสียงออด ได้ยินเสียงประตูปิดเปิดดังๆ ได้เยี่ยมกันผ่านกระจก ยิ่งเป็นการสร้างความทรงจำเลวร้ายที่เด็กมีต่อแม่ เพราะเดิมทีเด็กอาจจะไม่รู้ว่าคุกคืออะไร แต่เมื่อเขาเห็นสัญลักษณ์บางอย่าง เช่น การใช้โซ่ตรวน เขาจะรู้ว่านี่คือสถานที่คุมขัง เมื่อแม่อยู่ในสถานที่แบบนี้เด็กก็ไม่อยากมาเยี่ยมแม่ แม่ก็ไม่อยากให้เด็กมาเยี่ยมเพื่อจะได้ไม่เกิดภาพจำที่ไม่ดี
นอกจากนี้ จะทำอย่างไรให้เรือนจำสามารถเปิดเยี่ยมญาติใกล้ชิดบ่อยขึ้น ให้แม่ได้กอดลูก หรือทำให้กระบวนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เรือนจำลดความเข้มงวดลง เป็นมิตรกับเด็กมากขึ้น สิ่งแวดล้อมในลักษณะนี้น่าจะมีส่วนช่วยให้เด็กกับแม่ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
ในบางประเทศ การเยี่ยมญาติแบบใกล้ชิดเป็นการเยี่ยมแบบมาตรฐานของเขา ทุกครั้งแม่จะสามารถกอดหรือนั่งกินข้าวกับลูกได้ ส่วนของเรา ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นที่พัฒนาได้อีก
ทำไมระบบเรือนจำไทยยังไม่มีแนวคิดเรื่องการเจอและได้ใกล้ชิดแม่
การเยี่ยมญาติแบบใกล้ชิดในไทยเรามีปีละ 1-2 ครั้ง อาจเป็นเพราะประเด็นเรื่องความอ่อนไหวในเรื่องเพศภาวะ (Gender sensitivity)ยังไม่ถูกนำไปผนวกไว้ในนโยบายหรือระเบียบเรือนจำมากเท่าที่ควร อีกอย่างคือหน้าที่หลักของเรือนจำเป็นการควบคุม ไม่ให้มีการหลบหนี ไม่ให้ใครนำอะไรเข้าไป ไม่มีมือถือ ไม่มียาเสพติด นั่นคือข้อกังวลด้านความมั่นคง
แต่ถามว่าข้อกังวลเหล่านี้ควรใช้กับผู้หญิงด้วยได้ไหม ในความเป็นจริงความเสี่ยงของผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าใช้ระเบียบการควบคุมแบบเป็นกลางทางเพศ (Gender neutral) ปฏิบัติกับผู้หญิงเสมือนเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ก็เท่ากับว่าเราได้สร้างอันตรายและสร้างกำแพงระหว่างผู้หญิงกับครอบครัวไปแล้ว
หากมีนโยบายที่คำนึงถึงเรื่องความอ่อนไหวทางเพศภาวะมากๆ จะทำให้เกิดความไม่เสมอภาคระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงหรือไม่
เราต้องดูเรื่องการอำนวยความยุติธรรม คือถ้าเราปฏิบัติกับคนทุพพลภาพและคนปกติเหมือนกัน นั่นก็คงไม่ใช่ความยุติธรรม ความยุติธรรมจริงๆ ที่เข้าถึงได้คือ การที่เราเข้าไปดูว่าความต้องการเฉพาะด้านของคนๆ นั้นคืออะไร และเราพยายามจะเติมเต็มสิ่งที่บุคคลนั้นขาด ผู้ต้องขังหญิงมีความต้องการแตกต่างกับผู้ต้องขังชาย ทั้งเชิงกายภาพ เชิงจิตใจ และเชิงสังคม ผู้หญิงต้องมีประจำเดือนทุกเดือน มีการตั้งครรภ์ มีภาระการดูแลลูก นี่คือความแตกต่างที่กระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ต้องเติมเต็มความต้องการพิเศษเหล่านี้ เพื่อให้ชายและหญิงได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
นโยบายที่ผ่านมาตอบสนองกับผู้ต้องขังชายอยู่แล้ว คือเมื่อเราคิดถึงคุก เรามักคิดถึงผู้ชาย เพราะคุกถูกออกแบบโดยผู้ชาย สร้างโดยผู้ชาย และเพื่อผู้ต้องขังชาย ไม่ใช่ผู้ต้องขังชายทั่วไปแต่เป็นวัยหนุ่ม เพราะฉะนั้น กระบวนการเหล่านี้สร้างความไม่เท่าเทียมให้คนอื่นในตัวของมันเองแล้ว การที่เราไปช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้หญิงจึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ยุติธรรมอย่างแท้จริง
มีแนวคิดแบบครอบคลุม (inclusive) หรือไม่ เช่น เรื่องที่ผู้หญิงได้เจอลูก ผู้ชายก็ควรได้เจอลูกเช่นกัน
นี่ก็เป็นประเด็นสำคัญ ตอนที่กล่าวถึงข้อกําหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสําหรับผู้กระทําผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) อยู่ในระหว่างการยกร่าง ที่จริงแล้วแนวปฏิบัติดังกล่าวสามารถนำไปใช้กับผู้ต้องขังชายได้ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เช่น การเยี่ยมหรือให้บุตรมาอยู่ในเรือนจำ
นอกจากข้อกำหนดกรุงเทพ แล้ว ยังมีข้อกำหนดแมนเดลลา (Mandela Rules) ซึ่งมีความครอบคลุมมากกว่า ที่วางแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ต้องขังหญิงและชาย กระบวนการในลักษณะนี้มีมาตรฐานระหว่างประเทศเปิดช่องไว้อยู่แล้ว แต่การจะดูว่ากลุ่มไหนควรจะได้สวัสดิการลักษณะนี้ก่อน ก็ต้องดูว่ากลุ่มไหนได้รับผลกระทบมากกว่า
‘เด็กที่เกิดในเรือนจำและถูกพรากออกมาเมื่ออายุหนึ่งปี’ กับ ‘เด็กที่ถูกพรากออกมาก่อนแม่จะถูกจำคุก’ มีผลกระทบเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
เด็กที่อยู่นอกเรือนจำมีสายสัมพันธ์แม่ลูกแล้ว และต้องเจอกับกระบวนการตอนแม่ถูกจับ เห็นแม่ถูกตำรวจลากขึ้นรถ เป็นความทรงจำอันเลวร้าย เมื่อถูกแยกออกจากแม่ สายสัมพันธ์ที่ว่าจะถูกตัดออกอย่างฉับพลันทำให้เกิดบาดแผลมากกว่า แต่หากเป็นเด็กที่ต้องออกจากเรือนจำเมื่ออายุ1 ขวบ เด็กยังเล็กทำให้ผลกระทบอยู่ที่แม่มากกว่า แม่บางคนนอนร้องไห้เป็นเดือนๆ หรือบางคนอาจจะรู้สึกผิดว่าทำไมลูกต้องมาอยู่ในเรือนจำกับตนนานขนาดนี้
เราเชื่อว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูกจะทำให้ผู้หญิงไม่ทำผิดซ้ำเมื่อออกจากเรือนจำไปแล้ว ซึ่งจะทำให้กระบวนการกลับคืนสู่สังคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะผู้ต้องขังหญิงล้วนบอกว่าสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต คือการมีลูกและการได้ทำหน้าที่แม่ เมื่อออกไปแล้ว ก็อยากจะสานต่อและทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดี เพราะฉะนั้น เรือนจำจึงจำเป็นต้องรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้
อันที่จริงต้องบอกว่า ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2549ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กติดผู้ต้องขัง มีการปรับปรุงสถานที่เพื่อให้เหมาะสมกับการเลี้ยงดูเด็ก มีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในการให้ความช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ เพราะกลุ่มนี้คือเหยื่อที่มองไม่เห็นและเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ เริ่มจากความพยายามภายในประเทศ และด้วยพระปรีชาของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ข้อกำหนดกรุงเทพ จึงถูกร่างขึ้น จน UN ให้การรับรอง และปัจจุบันข้อกำหนดกรุงเทพถูกนำไปใช้ในนานาประเทศ
ตอนนี้ไทยอยู่ในจุดที่หันกลับมามองว่า ความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมหรือเชิงสังคม จะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกไหม เช่น เงิน 600 บาทที่รัฐจัดเป็นสวัสดิการให้เด็กแรกเกิด แต่เงินตรงนี้เข้าไม่ถึงเด็กติดผู้ต้อ&a