สัมภาษณ์พิเศษเจ้าหน้าที่ TIJ : การประชุม CCPCJ ครั้งที่ 32

สัมภาษณ์พิเศษเจ้าหน้าที่ TIJ : การประชุม CCPCJ ครั้งที่ 32

TIJ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการประชุม CCPCJ มาตั้งแต่ปี 2556 ทั้งเพื่อเสนอผลงานของประเทศไทยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้จากเวทีประชุมด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในระดับนานาชาติ ในโอกาสนี้ TIJ Newsletter ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่ได้เข้าร่วมงาน ณิชาภา ลิมศิริธง หรือ แนน เจ้าหน้าที่ประสานนโยบาย สำนักกิจการระหว่างประเทศและประสานนโยบาย และ ฉัตร เสถียรไทย หรือ ฉัตร ผู้ช่วยนักรณรงค์เชิงนโยบาย สำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ที่จะมาเล่าประสบการณ์จากการประชุมในครั้งนี้ว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

 

 

“กระบวนการการป้องกันอาชญากรรมและการส่งเสริมความยุติธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในหลักนิติธรรมของสังคมนั้น องค์ประกอบที่สำคัญซึ่งแยกไม่ขาดก็คือ เรื่องสิทธิมนุษยชน” - ณิชาภา

 

 

 

“งานระดับนี้ช่วยให้ได้ขยายเครือข่ายผ่านการพบกันคนใหม่ๆ ในวงการยุติธรรมทางอาญาจากการจัดนิทรรศการและพบคนใน Side Event ที่น่าจะสามารถต่อยอดสร้างความร่วมมือกับองค์กรและประเทศอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น” - ฉัตร

 

 

 

 

ก่อนเดินทางไปร่วมงานคาดหวังอย่างไร มีความมุ่งหวังต่องานอย่างไรบ้าง

ณิชาภา : ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ไป ก็คาดหวังที่จะได้รับรู้ถึงสถานการณ์ความเป็นไปด้านอาชญากรรมและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของโลก และมุ่งหวังว่างานของ TIJ ที่ได้นำเสนอในที่ประชุม CCPCJ จะสามารถเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาในมิติต่างๆ ของประชาคมโลกต่อไปในอนาคตได้
ฉัตร : ไม่ได้คาดหวังอะไรมากครับ อยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผน กังวลมากกว่า มุ่งหวังว่าทุกอย่างจะเห็นไปได้ราบรื่น นิทรรศการจะเสร็จตรงเวลา ไม่มีอะไรเสียหายระหว่างเดินทาง หวังว่าจะมีแขกมาชมเยอะๆ ได้สร้างความประทับใจต่อสาธารณะชนที่มางาน

 

หลังจากร่วมงานมีอะไรที่ประทับใจ หรือเป็นไปตามคาดหวังหรือไม่

ณิชาภา : ได้เห็นความตื่นตัวของประชาคมระหว่างประเทศต่อประเด็นปัญหาด้านอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาที่เผชิญร่วมกัน จนนำไปสู่การหาแนวทางใหม่ๆ ในการป้องกัน รับมือ และจัดการกับปัญหาเหล่านั้น ไม่ว่าจะผ่านการอนุวัติมาตรฐานและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ไปจนถึงการเสนอให้ยกร่างมาตรฐานระหว่างประเทศในประเด็นนั้นๆ

ฉัตร : ประทับใจกับประสบการณ์ที่ได้รับ เปิดหูเปิดตามาก ได้ไปที่ใหม่ สัมผัสการทำงานในสถานที่แปลกใหม่ กระบวนการของ UN ประทับใจกับความเป็นกันเองของพี่ๆ และผู้ใหญ่ของ TIJ ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเป็นน้องตามผู้ใหญ่ไปตลอด

 

มีกิจกรรมหรือข้อมูลอะไรที่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เฉพาะที่จะได้จากงาน CCPCJ แล้วคิดว่าจะนำไปต่อยอดกับงานได้อย่างไรบ้าง

ณิชาภา : กระบวนการการป้องกันอาชญากรรมและการส่งเสริมความยุติธรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในหลักนิติธรรมของสังคมนั้น องค์ประกอบที่สำคัญซึ่งแยกไม่ขาดก็คือ เรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดแทรกอยู่ในงานของ TIJ อยู่แล้ว โดยเฉพาะในหลักคิด ‘ความยุติธรรมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง’ ที่ TIJ รวมถึงประชาคมโลกก็มุ่งหวังที่จะผลักดันเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งการอนุวัติประเด็นเหล่านี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสังคมโดยรวม  ซึ่งก็สะท้อน motto ที่ TIJ ให้ความสำคัญก็คือ justice is everyone’s matters ทุกคนในสังคมมีบทบาทหน้าที่ที่จะส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงเรื่อง collaborative and innovative justice for all ที่ต้องผลักดันกันต่อไปในเวทีระหว่างประเทศ

ฉัตร : ได้ขยายเครือข่ายผ่านการพบกันคนใหม่ๆ ในวงการยุติธรรมทางอาญาจากการจัดนิทรรศการและพบคนใน Side Event ที่น่าจะสามารถต่อยอดสร้างความร่วมมือกับองค์กรและประเทศอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น

 

ได้พูดคุยหรือสร้างคอนเนคชั่นกับผู้ร่วมงานคนอื่นๆ อย่างไร

ณิชาภา : เป็นการแลกเปลี่ยนกิจกรรมที่ TIJ กำลังดำเนินอยู่ เช่น ประเทศอินโดนีเซียได้มีการจัดนิทรรศการเรื่องการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเค้ามีความสนใจ และโฟกัสในประเด็นนี้อยู่ ก็จะไปแลกเปลี่ยนกิจกรรม RJ ที่ TIJ ดำเนินอยู่ เพื่อความร่วมมือในการผลักดันประเด็นนี้ต่อไปในอนาคต

ฉัตร : มีทั้งเขาสนใจนิทรรศการ พาเขามาชมแล้วคุยต่อ และมีการเข้าร่วม Side Event เพื่อรับฟังข้อมูลใหม่ๆ จากงานวิจัยของเขา

 

มีข้อเสนอแนะอะไรที่อยากแนะนำคนที่อาจจะได้ไป หรือเข้าร่วมงานในอนาคตบ้าง

ณิชาภา : สิ่งสำคัญของการเข้าร่วมงานประชุมนี้ก็คือการติดตามความเป็นไปของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเด็นความสนใจ เพราะจะช่วยให้ได้เห็นโอกาสในการขยายความร่วมมือในงานของประเทศไทยและ TIJ ต่อไปได้ในอนาคต

ฉัตร : เตรียมเหนื่อย แต่ให้ใช้เป็นโอกาสเก็บประสบการณ์ สร้างเครือข่าย เห็นกระบวนการต่างๆ ในระดับเวทีโลกที่อาจจะไม่เคยเจอมาก่อน