เราได้เห็นข่าวความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง ปีนี้ก็มีหลายข่าวดังที่สังคมสนใจ โดยเฉพาะกรณีนักการเมือง นักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกกล่าวหาคดีข่มขืน อนาจาร ล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งหากดูสถิติคดีความผิดทางเพศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วงปี 2560-2563 มีผู้เสียหายกว่า 8,000 คน แต่จากข้อมูลของ UNODC พบว่าเกือบ 90% ของคดีถูกล่วงละเมิดทางเพศในไทยไม่ถูกรายงาน แสดงว่ามีมากกว่านี้อีกมากที่ยังถูกซุกซ่อนไว้
ยิ่งถ้าพูดถึง การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ซึ่งมิได้จำกัดแค่การข่มขืน แต่รวมถึงพยายามข่มขืน และครอบคลุมทุกการกระทำในทางเพศโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม ตั้งแต่ไม่ได้แตะเนื้อต้องตัว เช่น ใช้สายตา ผิวปาก พูดจาแทะโลม ส่งข้อความ ถ่ายคลิปลามก ขู่ว่าจะเผยแพร่ ฯลฯ ไปจนถึงการแตะเนื้อต้องตัว ก็มักจะเห็นคนส่วนหนึ่งที่ไม่รู้สึกซีเรียส บ้างก็ลดทอนด้วยคำพูดให้ดูเบาลง เช่น “หยอกๆ” หรือทำให้เป็นเรื่องตลกขบขันไป
ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศวิถีได้ให้มุมมองว่า ด้วยขอบเขตของพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่กว้างและหลากหลาย และไม่มีนิยามทางกฎหมายอย่างเป็นทางการ จึงมีผลต่อ “ความเข้าใจ” ของคนในสังคม ยิ่งในสังคมไทยมีค่านิยมหนุนเสริมให้คนยอมรับเรื่องการคุกคามทางเพศได้ง่ายขึ้น เพราะเราถูกปลูกฝังมาด้วยบรรทัดฐานที่กำหนดพฤติกรรมทางเพศไว้แตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย “เราสอนผู้ชายให้มีอิสระ ส่งเสริมให้เรียนรู้ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางเพศ ยิ่งเยอะยิ่งดี” และ “สอนผู้หญิงให้รักนวลสงวนตัว คาดหวังให้บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่มีประสบการณ์ และไม่มีความรู้เรื่องเพศ” ซึ่งรวมถึงการป้องกันตัวหรือปฏิเสธเมื่อไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการล่วงละเมิด การเอารัดเอาเปรียบ และการคุกคามทางเพศในสังคมไทย ถ้าลองนึกถึงต้นแบบความรักในอุดมคติที่เราได้เห็น “พระเอกใช้กำลังข่มขืนนางเอกในฉากละคร” หรือการเพิ่งแก้กฎหมายให้การข่มขืนภรรยาโดยสามีมีความผิดเมื่อปี 2551 ก็น่าจะนึกภาพได้ชัดขึ้นว่าทำไมการคุกคามทางเพศถึงฝังรากลึกอยู่ในสังคมเราจนกลายเป็นเรื่องปกติ
และถ้าถูกล่วงละเมิด ผู้หญิงจะถูกสังคมตีกรอบว่าเป็นเรื่อง “เสียหาย” ต้องรู้สึกอับอาย ไม่กล้าพูด ไม่กล้าเปิดเผย ยิ่งถ้าผู้คุกคามมีอำนาจมากกว่า การลุกขึ้นมาตอบโต้ โวยวาย ก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในบริบททางสังคมที่ “ผู้ชายเป็นใหญ่” และมี “อำนาจ” เหนือกว่าในมิติต่างๆ ประกอบกับคนส่วนใหญ่ในสังคมยังคง “ยำเกรง” ผู้มีอำนาจหรือผู้มีหน้ามีตาในสังคมเช่นปัจจุบัน เราก็จะยังคงเห็นตัวอย่างของคนที่ใช้อำนาจเหนือกว่าในมิติอื่นๆ แสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับคนที่มีสถานะทางสังคมน้อยกว่า ไม่ว่าจะเป็นอายุ อาชีพ ชื่อเสียง ตำแหน่งหน้าที่ ระดับการศึกษา หรือฐานะการเงิน ซึ่งมักเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัว อย่างเช่น กรณีพ่อเลี้ยงข่มขืนลูก ครูลวนลามนักเรียน หรือเจ้านายคุกคามทางเพศลูกน้อง
การที่เรามาพูดเรื่อง Sexual Harassment กันในวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะสังคมเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มีคนกลุ่มหนึ่งเริ่มออกมาพูดในที่สาธารณะว่าเกิดเหตุแบบนี้แล้วเขาไม่ยอมรับ ต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม หรืออย่างน้อยก็ออกมาประจาน ซึ่งเป็นค่านิยมที่สะท้อนว่าเขาไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศอีกต่อไป แต่ค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไปนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกว่าเขากำลังสูญเสียอำนาจหรืออภิสิทธิ์ที่จะมีอิสระทางเพศไป เพราะแต่ก่อนเป็นสิทธิพิเศษที่มากับเพศ บวกกับสังคมอนุญาตให้ทำได้ ตอนนี้มาบอกว่าผิด เขาก็ไม่อยากยอมรับ และขณะเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่า สังคมเรามาถึงจุดที่ค่านิยมของคนในสังคมเริ่มฉีกไปคนละทาง แต่ตัวพฤติกรรมยังคงมีอยู่มาก เพราะบรรทัดฐานเรื่องเพศและอำนาจในสังคมแบบเดิม ๆ ยังมีอิทธิพลอยู่มากนั่นเอง
อีกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมสมัยนี้ คือ การนำเรื่องเพศมาแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น เป็นจุดขายสินค้า พรีเซนท์ตัวเองในพื้นที่โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นภาวะที่เราไม่ได้ถูกปลูกฝังให้รู้จักเคารพในเนื้อตัวร่างกายของตนเองและของผู้อื่นมาอย่างเข้มข้น และทุกเพศต่างตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสภาวะแวดล้อมเดียวกันนี้ ทุกวันนี้เราเลยเริ่มเห็นผู้หญิงออกมาคอมเมนต์ภาพผู้ชายเซ็กซี่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เห็นการทำ Content ผ่านสื่อต่างๆ โดยให้ผู้หญิงหรือเพศอื่นๆ เป็นฝ่ายลวนลาม หรือแทะโลมผู้ชาย ฯลฯ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคซึ่งมีความหลากหลายทางเพศ แม้จะไม่ใช่พฤติกรรมการคุกคามทางเพศโดยตรง แต่ก็เป็นการให้ภาพตัวอย่างซ้ำๆ ที่ทำให้คนในสังคมเห็นว่าสิ่งนี้ทำได้ ทำแล้วสนุก ขายได้ เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่สังคมยอมรับได้
ส่วนหนึ่งที่ปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ไขจริงจัง เพราะถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล แต่จริง ๆ แล้วเป็นปัญหาที่มีรากฐานมาจากโครงสร้างสังคม ด้วยบรรทัดฐานทางสังคมที่เอื้ออนุญาต บวกกับไม่มีมาตรการและกลไกของรัฐหรือสถาบันที่จะมาคุ้มครองป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ทำให้เกิดการคุกคามทางเพศเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ในสังคมไทย การก้าวข้ามปัญหานี้ไปให้ได้ ต้องเริ่มจากการย้อนกลับไปปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันของคนในสังคมให้เข้มแข็ง เป็นค่านิยมที่สังคมยุคใหม่พึงยอมรับร่วมกันว่า สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่นเป็นสิ่งที่เราจะละเมิดไม่ได้ เช่นเดียวกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองที่ต้องหวงแหนและมิให้คนอื่นมาล่วงละเมิดได้
และระหว่างที่คนในสังคมกำลังยื้อยุดกันระหว่างค่านิยมแบบเก่าและแบบใหม่ เชื่อว่าทุกการเคลื่อนไหวที่สะท้อนถึงการไม่ยอมรับความรุนแรงทางเพศในทุกรูปแบบ จะเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนให้มองพฤติกรรมการคุกคามทางเพศว่าไม่ใช่เรื่องปกติที่ควรเกิดขึ้นในสังคมอีกต่อไป