สรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย

สรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย

ในวันที่ 4 - 5 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ สำนักงานป้องกัน อาชญากรรมและปราบปรามยาเสพติดแห่งสหประชาชาติ (UNODC) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยมาตรการที่มิใช่ การคุมขังในประเทศไทย (Workshop on Non-custodial Measure in Thailand) ณ โรงแรมแชงกรีล่า กรุงเทพ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง TIJ และ UNODC ในการสนับสนุนการนำข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (ข้อกำหนดกรุงเทพ) และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขัง (ข้อกำหนดโตเกียว) ไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้ง ยังเป็นความมุ่งมั่นของสถาบันในการส่งเสริมความยุติธรรมทางอาญา
 

การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่การคุมขังให้กับบุคลากรในหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ และผลกระทบของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในขั้นต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมถึงมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศภาวะและความต้องการเฉพาะของผู้หญิงที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้บรรยายจากทั่วโลกและผู้เข้าร่วมการประชุมจากหน่วยงานต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย
 

ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงานว่า “การอบรมในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์กับทุกฝ่ายในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นมิติทางกฎหมาย แนวการปฏิบัติ และข้อท้าทายที่เกิดขึ้นจริงในขั้นตอนต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรม ทางอาญาสาระสำคัญของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้อยู่ที่ทุกท่านที่เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังๆได้มากขึ้น และตอบโจทย์ของสังคมไทย”

การประชุมเริ่มต้นขึ้นด้วยการนำเสนอของ Sven Pfeiffer เจ้าหน้าที่ด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรม (UNODC) ถึงความสำคัญของการยอมรับและนำมาตรการที่มิใช่การคุมขัง ตลอดจนมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่คำนึงถึงเพศภาวะไปสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ เขายังได้เน้นย้ำถึงแนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศต่างๆ ที่แสดงถึงประสิทธิภาพของมาตรการดังกล่าว

สำหรับหัวข้อถัดมานั้น ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้บรรยายถึง “ภาพรวมของการนำมาตรการทางเลือกแทนการคุมขังมาใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียน” และได้กล่าวถึงโครงการ Yellow Ribbon ของประเทศสิงคโปร์ ที่มุ่งหมายให้ผู้คนในสังคมเข้าใจผู้กระทำความผิด ดร.นัทธีได้เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของกลไกก่อนการคุมขัง เพื่อลดการคุมขังก่อนพิจารณาคดี และความแออัดในเรือนจำ รวมถึงการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรม

ในอีกมุมหนึ่ง หม่อมหลวงศุภกิตติ์ จรูญโรจน์ เลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกในมุมของเจ้าพนักงานอัยการ โดยได้บรรยายถึง อำนาจของพนักงายอัยการและการใช้ดุลยพินิจ” ที่จะใช้ดุลยพินิจชะลอการดำเนินคดีในกรณีที่ไม่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนโดยในปัจจุบันประเทศไทยได้มีความพยายามในการเสนอร่างพระราชบัญญัติชะลอฟ้องที่มีเหตุผลจากการลักษณะการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรงและไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน ซึ่งหม่อมหลวงศุภกิตติ์ได้ให้ความเห็นว่า “การชะลอฟ้อง เป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อให้โอกาสผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมโดยไม่มีตราบาป”

สำหรับช่วงการประชุมในภาคบ่าย หัวข้อ“การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในขั้นหลังการพิจารณาคดี” ได้เริ่มต้นด้วยการนำเสนอเนื้อหา โดย ดร.ยศวันต์ บริบูรณ์ธนา ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติ กรุงเทพมหานคร 2 ซึ่งได้บรรยายเนื้อหาตั้งแต่การพิจารณาการปล่อยตัว การควบคุมผู้ถูกคุมประพฤติ การดูแลผู้ที่พ้นโทษไม่ให้กลับไปกระทำความผิดซ้ำในกระบวนการยุติธรรม และยังได้กล่าวถึงตัวอย่างการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวสำหรับการคุมประพฤติแทนการคุมขัง นอกจากนี้ ดร.ยศวันต์ ยังกล่าวทิ้งท้าย ด้วยข้อสังเกต เกี่ยวกับความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดในสังคมวงกว้าง และการพัฒนาศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน (ศูนย์ JSOC) เพื่อสนับสนุนการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังอย่างปลอดภัยในสังคม ตลอดจนความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซ้ำผ่านการปฏิรูปอย่างเป็นองค์รวมที่คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละภาคส่วนในกระบวนการยุติธรรม

ในลำดับถัดมา Stephen Pitts ที่ปรึกษาอิสระด้านงานยุติธรรมชุมชน ได้เพิ่มเติมประเด็นให้ลึกมากขึ้นในหัวข้อ “การปล่อยตัวก่อนครบกำหนดระยะเวลา กับการคุมประพฤติ” โดยนำเสนอการใช้ชุมชนเข้ามาช่วยเหลืองานคุมประพฤติและส่งเสริมการกลับคืนสู่สังคมและไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นตั้งแต่ ขั้นก่อนการพิจารณาคดี การใช้ชุมชนเข้ามาดูแล ตลอดจนขั้นตอนของการคุมขัง นอกจากนี้ อาจใช้แนวทางการดูแลที่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะกลุ่มคน เช่น การใช้แนวคิดผู้หญิงเป็นศูนย์กลางจะทำให้การกลับคืนสู่สังคมของผู้หญิงประสบความสำเร็จ และสร้างความเข้มเข็งในชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ยกตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ เคนยา สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร

สำหรับประสบการณ์การมีส่วนร่วมของชุมชนในการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศญี่ปุ่น Ayaka Taki ศาสตราจารย์แห่งสถาบันการป้องกันอาชญากรรม และการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดของสหประชาชาติภาคพื้นเอเชีย และตะวันออกไกล (UNAFEI) ได้กล่าวถึงอย่างละเอียดใน“บทบาทของชุมชนที่มีต่อการบริหารงานคุมประพฤติให้ให้มีประสิทธิภาพ” โดยเริ่มต้นจากความสำคัญ ความคุ้มค่า การลดความรุนแรง ลดการกระทำผิดซ้ำและประเด็นที่เป็นประโยชน์ของการใช้ชุมชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในข้อกำหนดโตเกียว และควรคำนึงถึงการส่งเสริมการฟื้นฟูผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการดังกล่าวยังต้องพบกับข้อท้าทายต่างๆ เช่น การขาดแคลนทรัพยากร งานวิจัยที่ไม่เพียงพอ การขาดแคลนทักษะของผู้ปฏิบัติงาน และที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ เธอยังได้พูดถึงระบบ Hagoshi ในประเทศญี่ปุ่นที่เป็นระบบอาสาสมัครคุมประพฤติอีกด้วย

ช่วงท้ายของการประชุมปฏิบัติการในวันแรก ศ. (เกียรติคุณ) ดร. Peter J.P. Tak ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้บรรยายในหัวข้อ “การส่งเสริมการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย: จากงานวิจัยสู่การปฏิบัติ”ซึ่งได้รายงานข้อค้นพบสถานการณ์การใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในประเทศไทย รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะกับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเล่าถึงสถานการณ์ในกระบวนการยุติธรรมไทยที่เพิ่มขึ้นของผู้ต้องขังไม่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม การใช้มาตรการรอลงอาญายังจำกัด ตลอดจนปัญหาอื่น ๆ อีกทั้ง ศ. Tak ยังปิดท้ายการนำเสนอด้วยคำแนะนำ สำหรับการปรับใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังแก่ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมไทยในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล ซึ่งรวมถึงข้อแนะนำในการจัดสรรทรัพยากรให้กับตำรวจ แนวทางการใช้อำนาจดุลพินิจ และการกำหนดโทษจำคุก

ก่อนสิ้นสุดการประชุมในวันแรก ผู้เข้าร่วมการประชุมจากหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมทำกิจกรรมการอภิปรายแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ใช้ในประเทศไทย ความท้าทายในปัจจุบัน รวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำข้อเสนอแนะไปใช้ ซึ่งผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่างๆได้ให้ความเห็นสนับสนุนและแนวทาง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การปรับใช้ในขั้นก่อนการพิจารณาคดี การปรับใช้ผ่านนโยบายประธานศาลฎีกา การใช้มาตรการทางเลือกในกระบวนการยุติธรรมในคดีเยาวชนและครอบครัว ตลอดจนแนวทางแก้ไขระหว่างและภายหลังการดำเนินคดีจากผู้แทนกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติที่พูดถึงการใช้ชุมชนบำบัด อุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM)

การประชุมเชิงปฏิบัติการวันถัดมา เริ่มวันด้วยการทบทวนเนื้อหาของวันแรกทั้งข้อสรุป ข้อเสนอแนะ และข้อมูลจากการอภิปราย สำหรับเนื้อหาของวันที่สองได้มุ่งเน้นการทำความเข้าใจในประเด็นเกี่ยวกับการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ ในหัวข้อนี้ Sabrina Mahtani ที่ปรึกษาหลักของ UNODC ได้นำเสนอข้อค้นพบจากรายงานการประเมินผลเกี่ยวกับการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ประเด็นของความสำคัญของการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังต่อผู้หญิง ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อผู้หญิง การขาดดุลพินิจในการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังไปปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสาเหตุในการกระทำความผิดของผู้หญิง และยังพบความสนใจในการใช้มาตรการเหล่านี้ ตลอดจนความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำ เธอยังได้นำเสนอข้อเสนอแนะในการพัฒนาและให้การสนันสนุนทรัพยากรต่างๆ ในการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว กลไกการปล่อยตัวก่อนกำหนด การลงทุนด้านการศึกษาวิจัยและการจัดทำข้อมูล การสร้างความตระหนักรู้ของสังคม และเธอยังกล่าวเสริมอีกว่า “ฉันเชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในด้านการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อผู้หญิงไปใช้ ทั้งจากในข้อกำหนดกรุงเทพ และข้อกำหนดโตเกียว”

ในการประชุมยังได้รับฟังการบอกเล่าประสบการณ์จากมุมมองของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสในการกลับคืนสู่สังคมของผู้กระทำความผิด ผ่านการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ในการคุมประพฤติ รวมทั้งอุปสรรคในการใช้ชีวิตระหว่างการถูกคุมประพฤติ

จากนั้นผู้เข้าร่วมประชุมได้รับชมวิดิโอเรื่อง “ประตูที่แตกต่าง” (A different door) ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กร Woman in Prison ที่แสดงให้เห็นว่าการที่ผู้หญิงก้าวเข้าสู่เรือนจำนั้นมักเป็นผลมาจากประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาสุขภาพทางจิต ความยากจน และอื่น ๆ ดังนั้น จึงนำมาสู่การจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้หญิง เพื่อรองรับผู้ที่เคยกระทำผิดหญิงในสังคม ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการปฏิบัติที่ตอบสนองต่อเพศ

ด้วยประเด็นที่กล่าวไปเบื้องต้นได้เน้นย้ำถึงการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังก่อนพิจารณาคดีที่ตอบสนองต่อเพศภาวะที่เป็นเรื่องความสำคัญ ซึ่ง Genevieve Higgins ผู้จัดการโครงการยุติธรรมชุมชน กลุ่ม Jesuit Social Services ประเทศออสเตรเลีย ได้นำเสนอประเด็นความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นประสบการณ์จากงานฟื้นฟูผู้กระทำผิดเยาวชนหญิงอายุ 13 – 17 ปี โดยเน้นย้ำเรื่องการตกเป็นเหยื่อ ความบอบช้ำที่เด็กผู้หญิงเหล่านั้นได้รับ และความความไร้อำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความเปราะบางของผู้หญิงที่มีประวัติครอบครัวแตกแยก โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการอย่างเป็นองค์รวมในกระบวนการยุติธรรมและมุ่งเน้นไปที่การผสานความสัมพันธ์กับคนในชุมชน

ในทำนองเดียวกันกับ Amanda O’Neill ตัวแทนหน่วยยุติธรรมสมานฉันท์ Restorative Justice Unit (RJU) ประเทศออสเตรเลีย ได้แบ่งปันประสบการณ์จากองค์กรภาครัฐของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งรวมทั้งประเด็นทางกฎหมาย และเคสที่อยู่ในความดูแลของหน่วยยุติธรรมสมานฉันท์ที่ส่วนใหญ่มักมี PTSD และมีปัญหายาเสพติด ทำให้ผู้กระทำผิดเหล่านี้ได้รับการลงโทษที่รุนแรงขึ้น การนำเสนอข้อมูลนี้สามารถนำมาเปรียบเทียบกับประเด็นทางกฎหมายของไทยที่อาจมีมิติที่หลากหลายและความซับซ้อนเช่นเดียวกัน

จากนั้นที่ประชุมได้รับฟัง Aisya Humaida ทนายความผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย แห่ง LBHM อินโดนีเซีย ซึ่งได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากการทำงานภายใต้ระบบเรือนจำของอินโดนีเซียว่า การปรับใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังและแนวทางที่ตอบสนองต่อเพศภาวะนั้นอาจต้องมีขั้นตอนในการระบุประเภทของอาชญากรรม แรงจูงใจในการกระทำความผิด ภูมิหลังของจำเลย รวมทั้งประวัติเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศเป็นพื้นฐาน ข้อมูลที่น่าสนใจคือแนวทางในการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังไปปฏิบัติ เนื่องจากระบบยุติธรรมในภูมิภาคอาเซียนมีความคล้ายคลึงกัน

การประชุมในช่วงเช้าวันที่สองเสร็จสิ้นลงด้วยการสนทนากลุ่มจากกรณีศึกษาเพื่อระดมความคิดในการปรับใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังไปปฏิบัติ โดยผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวทางต่างๆ เช่น การประกันตัวโดยไม่ใช้เงิน การใช้กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานอย่างองค์รวม

ในหัวข้อช่วงบ่ายเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขัง และมาตรการทางเลือกหลังการพิพากษาคดีที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ บรรยายโดย ดร. สุธาทิพ ยุทธโยธิน ผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เรื่อง “ความพยายามในการส่งเสริมมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ (ความสำเร็จ ข้อท้าทาย และข้อเสนอแนะ)” ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีความพยายามส่งเสริมการใช้มาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังอย่างต่อเนื่องในชั้นศาล ตลอดจนการจัดทำแนวทางการพิพากษาและการปล่อยตัวชั่วคราว นอกจากนี้ ยังรวมถึงการที่ศาลฎีกาได้ริเริ่มโครงการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย โดยนับเป็นความสำเร็จขั้นเริ่มต้นในการปรับใช้มาตรการที่มิใช่การคุมขังในชั้นตอนการพิจารณาคดีในประเทศไทยครั้งแรก

สำหรับประเทศเคนยา John Kennedy Odipo รองอธิบดีคุมประพฤติและการดูแลผู้กระทำความผิดหลังปล่อย ได้แนะนำหลักการของการคุมประพฤติที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับใช้นโยบายการไม่คุมขังกับผู้หญิง เช่น ควรจัดให้พนักงานคุมประพฤติควรเป็นผู้หญิงในกรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นผู้หญิง ควรพัฒนาการคุมประพฤติด้วยหลักการใช้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเหมาะสมกับเพศภาวะมากกว่าการปรับมาตรการที่มีอยู่ที่ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ชาย การสร้างบ้านกึ่งวิถี รวมทั้งการปรับมาตรการที่เหมาะสมกับสภาพชุมชนและสังคม โดยได้ร่วมมือกับองค์กรการปฏิรูปการลงโทษสากล ซึ่งสอดคล้องกับการนำเสนอจาก Teresa Njoroge ตัวแทนขององค์กร Clean Start Kenya ที่พูดถึงการสนับสนุนผู้หญิงหลังปล่อยจากเรือนจำ การบอกเล่าเรื่องราวการสนับสนุนผู้พ้นโทษหญิงกลับคืนสู่สังคมผ่านโครงการความช่วยเหลือและใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยได้คำนึงถึงแนวทางที่ปรับให้สอดคล้องกับความต้องการรายบุคคล เช่น โปรแกรมการสานความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและครอบครัว โครงการบ้านกึ่งวิถีในไนโรบี ซึ่งช่วยให้ผู้พ้นโทษได้มีที่พึ่งพิง

สุดท้ายในประเด็นข้อท้าทายในการอนุวัติมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะนั้น ที่ประชุมได้รับฟังการนำเสนอของ ดร. Anthea Hucklesby จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เรื่องช่องว่างระหว่างเพศในการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ในกระบวนการยุติธรรมที่ออกแบบมาเพื่อผู้ชายนั้นส่งผลกระทบต่อผู้หญิง เนื่องจากข้อจำกัดทางกายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุปกรณ์ EM ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อผู้ชายซึ่งจะเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่ ทำให้ผู้หญิงที่มีลักษณะทางกายภาพต่างจากผู้ชายรู้สึกไม่สบายเมื่อสวมใส่ และผู้พ้นโทษหญิงบางรายอาจได้รับบาดเจ็บ การตีตรา  โดยหลักการใช้งานของอุปกรณ์ EM ที่ตอบสนองต่อเพศภาวะควรคำนึงถึงหลักความจำเป็นและการได้สัดส่วน การคำนึงถึงความต้องการของผู้พ้นโทษและขนาดของอุปกรณ์ หลักความยืดหยุ่น และความเท่าเทียม

ในช่วงสุดท้ายของการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้เข้าร่วมได้ทำกิจกรรมกลุ่มระดมความคิดในกรณีศึกษาจากสถานการณ์สมมติที่มีประเด็นเกี่ยวกับเพศ โดยแบ่งเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้หญิง และกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้ชาย และการนำเสนอจากผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงให้เห็นว่า แนวทางการใช้มาตรการ
ที่มิใช่การคุมขังทั้งสองกรณีนั้นไม่มีความแตกต่างและพยายามปรับใช้มาตรการที่มิใช่การที่มิใช่การคุมขังดังกล่าว

 

Sabrina Mahtani ที่ปรึกษาหลักของ UNODC ได้สรุปเนื้อหาจากการประชุมทั้งสองวันและกล่าวทิ้งท้ายว่า “การประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการแลกเปลี่ยนมุมมองจากผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม และเป็นการเน้นย้ำถึงการใช้ชุมชนและการนำมาตรการที่มิใช่การคุมขังมาปรับใช้ในการปฏิบัติได้จริง” การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้ได้สิ้นสุดลงโดยความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งมีการกล่าวปิดการประชุมโดย Sven Pfeiffer ผู้แทน UNODC และ ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษา TIJ

 

เข้าถึงคู่มือว่าด้วยมาตรการที่มิใช่การคุมขังที่ตอบสนองต่อเพศภาวะ ได้ที่นี่