กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืออะไร

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คืออะไร? 


รู้หรือไม่ว่านอกจากการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยโทษอาญาและการกันตัวออกจากสังคม หรือที่เรียกกันว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน (Retributive Justice) ทั่วโลกยังมีการใช้กระบวนการทางเลือก อย่าง กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)

 

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้กระทำผิดและเหยื่อหรือผู้เสียหายได้มีปฏิสัมพันธ์กันผ่านคนกลาง (facilitator) เพื่อให้เกิดผลที่เป็นธรรมต่อคู่กรณีทั้งสองฝ่าย แน่นอนว่าการที่จะทำให้คู่กรณีมีความเห็นลงรอยกัน โดยไม่เอาชนะด้วยเพียงการจะส่งผู้กระทำผิดสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จะทำสิ่งนั้นให้ “ง่าย” ขึ้น

 

เป้าหมายของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์คือการทำให้คู่กรณีสามารถปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ผู้กระทำผิดสำนึกผิด และยินยอมในการเข้ารับการช่วยเหลือฟื้นฟูพฤติกรรม พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ผ่านคนกลางที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการทำหน้าที่เป็น facilitator ระหว่างคู่กรณี วิธีการเช่นนี้ยังเป็นวิธีการที่ช่วยบรรเทาความแตกแยกได้ในหน่วยสังคมขนาดเล็กอย่างครอบครัว โรงเรียน หมู่บ้าน และชุมชนด้วย

 

หลายคนคิดว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อคู่กรณีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ที่จริงแล้ว กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ เช่น หากเด็กทะเลาะกันในโรงเรียน การที่คุณครูที่ได้รับการฝึกฝนให้สามารถเป็นคนกลางในเหตุขัดแย้งก็สามารถเข้ามาแทรกแซงได้อย่างถูกวิธีในการยุติไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายหรือเป็นบาดแผลที่ฝังใจเด็ก จัสามารถดการประชุมเจรจากลุ่มเล็กเพื่อลดทอนความขัดแย้ง และช่วยให้คู่กรณีสามารถเข้าใจกันได้ โดยเรื่องไม่ต้องไปถึงสถานีตำรวจ ทั้งยังอาจส่งเสริมให้คู่กรณีเลิกแล้วต่อกัน และช่วยให้ทั้งสองฝ่ายไม่ต้องมีประวัติหรือประสบการณ์เชิงลบจากการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย

 

ประโยชน์ของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม โดยช่วยเหลือเหยื่อให้พวกเขาแสดงความคิดเห็นความต้องการ และมีส่วนร่วมในกระบวนการแก้ปัญหา ช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่เสียหายจากอาชญากรรม และหาวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาเยียวยาผลกระทบของอาชญากรรมนั้น ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมหรือการกระทำที่ยอมรับไม่ได้และยืนยันคุณค่าของชุมชน สนับสนุนการรับผิดชอบโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้กระทำผิด ด้วยการหาทางออกร่วมกันและมุ่งไปที่การพัฒนาตนเอง แทนการโฟกัสที่การลงโทษและตอกย้ำถึงการกระทำที่เกิดขึ้นไปแล้ว

 

การช่วยให้ผู้กระทำผิดได้เข้าสู่แผนการฟื้นฟูตนเอง ยังช่วยลดการกระทำผิดซ้ำโดยส่งเสริมให้ผู้กระทำผิดได้เปลี่ยนแปลงตนเองเป็นรายบุคคล และเอื้อให้พวกเขากลับคืนสู่ชุมชนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้จากผู้กระทำผิดไประบุปัจจัยที่อาจนำไปสู่อาชญากรรม และแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเพื่อหากลยุทธ์สำหรับการลดอาชญากรรมได้ในอนาคตด้วย

 

นอกจากนี้ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไม่ได้มีบทบาทเพียงในขั้นตอนก่อนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น หากยังสามารถนำไปใช้ได้ในขั้นตอนอื่นๆ ทั้งระหว่าง และภายหลังคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย โดยในประเทศไทยเองก็มีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้เป็นส่วนเสริมกระบวนการยุติธรรมในหลายมิติ 

 

พัฒนาการของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

แนวคิดและหลักการเกี่ยวกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์และกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์นั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่กลับเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว โดยสอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรม ประเพณี และขนบธรรมเนียมของชุมชนในหลาย ๆ ท้องที่ สำหรับในประเทศไทย ก็คือการเอื้ออาทร การไกล่เกลี่ยประนีประนอม การยอมรับผิด การให้อภัย พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างคู่พิพาทในลักษณะที่เป็นทางการ ที่เห็นได้ชัดอย่างกรณีเกิดเหตุพิพาทในชุมชน ผู้ใหญ่ในชุมชนหรือตัวแทนชุมชนมักจะเป็นคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อบรรเทาเหตุ เป็นต้น 

 

ส่วนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในรูปแบบที่เป็นทางการและเป็นระบบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีกรอบนโยบายเป็นทางการหรือมีกฎหมายรองรับในระดับสากลนั้น อาจเล่าย้อนได้ไปถึงเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา

พ.ศ. 2545 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) ให้การรับรองหลักการฟื้นฟูแห่งสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา (Basic Principles on the Use of Restorative Justice Programmes in Criminal Matters)

 

พ.ศ. 2549 ได้มีการริเริ่มจัดทำคู่มือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (UNODC)

 

พ.ศ. 2560 จัดประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญา (Expert Group Meeting (EGM) on Restorative Justice in Criminal Matters) เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ที่ประเทศแคนาดา

 

พ.ศ. 2561 ที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ครั้งที่ 27 (Commission on Crime Prevention and Criminal Justice – CCPCJ) ยังได้มีมติที่ 27/6 เรื่องความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในเรื่องทางอาญาด้วย 

 

พัฒนาการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยได้มีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้แล้วนานกว่า 20 ปี โดยนิยมใช้เป็นกระบวนการทางเลือก เพื่อเสริมกระบวนการยุติธรรมหลักและอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ตัวอย่างเช่น มาตรการพิเศษตามมาตรา 86 และมาตรา 90 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553  

 

ทว่า องค์ความรู้เกี่ยวกับหลักการและวิธีปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ยังไม่แพร่หลายนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของประชาชนทั่วไป เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานขาดทักษะที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกระบวนการ รวมถึงขาดการสนับสนุนจากภาครัฐในการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ และนโยบายที่ชัดเจนและสอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ตั้งแต่ พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้มีบทบาทมากขึ้นในการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ โดยประเทศไทยและ TIJ ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญครั้งที่ 2 เพื่อทบทวนคู่มือว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ การจัดการประชุมระดับชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (National Symposium) การประชุมระดมสมองระหว่างหน่วยงานว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Inter-Agency Brainstorming Session on Restorative Justice) และ TIJ ยังได้ร่วมกับ UNODC จัดการฝึกอบรมระดับชาติและระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับจัดทำงานวิจัย Harmonious Justice: Thailand’s Approach to Restorative Justice เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการนำแนวคิดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในประเทศไทย  รวมไปถึงจัดทำคู่มือสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (ปรับปรุงครั้งที่ 2) ฉบับแปลภาษาไทยด้วย

 

จากนี้ไป TIJ จะยังคงดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในประเทศไทยต่อไป โดยมุ่งเน้นนวัตกรรมในการส่งเสริมความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ซึ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน การส่งเสริมแนวทางการระงับข้อพิพาทด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในโรงเรียน และการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง


ประเทศไทยมีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในรูปแบบไหนบ้าง
 

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ไม่ได้มีแค่การไกล่เกลี่ย หลายประเทศมีการประชุมล้อมวง ประชุมครอบครัว ประชุมชุมชน สิ่งสำคัญ คือ การคำนึงถึงปรัชญาและคุณค่าที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังว่าจะทำอย่างไรให้สร้างความสำนึกผิดและเยียวยาความเสียหายอย่างแท้จริง โดยนำไปใช้ให้เหมาะแก่กรณี ปราศจากการบังคับ”

 

ในปัจจุบัน คู่มือกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของสหประชาชาติได้จัดกลุ่มรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่พบมากที่สุดในโลก 3 รูปแบบด้วยกัน คือ (1) การไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิดโดยมีคนกลางเป็นผู้ประสาน (2) การประชุมกลุ่มเชิงสมานฉันท์ และ (3) การล้อมวงพิจารณาข้อพิพาท

 

สำหรับประเทศไทยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (RJ) ไปใช้ในการจัดการกับข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สำหรับรูปแบบที่ไม่เป็นทางการ เช่น การจัดการความขัดแย้งในชุมชน ยกตัวอย่างกรณีศึกษา ผู้จัดการกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดเลยคนเก่าและคนใหม่ขัดแย้งกัน ซึ่งจากข้อมูลพบว่า สมาชิกหมู่บ้านแบ่งเป็นสองฝ่าย เคยไกล่เกลี่ยหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ จนกระทั่งมีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในห้องพิจารณาคดี เมื่อคู่กรณีเห็นว่าการไกล่เกลี่ยกันได้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน จึงยอมความเกิดการสมานรอยร้าว และ ระงับข้อพิพาทต่อกัน ส่งผลให้สมาชิกหมู่บ้านที่แตกแยกเป็นสองฝ่ายกลับมาอยู่ร่วมกันได้ดีดังเดิม

 

นอกจากนี้ยังมีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (RJ) ไปใช้ในการจัดการกับข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งในคดีความระดับเยาวชน เช่น กรณีเด็กอาชีวะแห่งหนึ่งในจังหวัดสตูล ซึ่งเด็กคนดังกล่าวมีภูมิหลังครอบครัวไม่สมบูรณ์ ก่อเหตุอาชญากรรมหลายครั้ง จนต้องเข้าสู่สถานพินิจฯ เมื่อมีการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในสถานพินิจฯ ทำให้ผู้เสียหายเข้าใจเด็กผู้ก่อเหตุมากขึ้น มีการยอมความ ให้อภัย ให้โอกาส จนสุดท้ายเด็กคนดังกล่าวก็กลับตัวเป็นคนดี ประกอบอาชีพสุจริต และสามารถสอบเข้ารับราชการได้ในปัจจุบัน

 

แม้กระทั่งในทุกชั้นของการดำเนินคดีอาญา ก็สามารถนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้เป็นทางเลือกหรือเป็นส่วนหนุนเสริมได้ ตั้งแต่ระดับเรือนจำ ศาล อัยการ ตำรวจ

 

ดังนั้น เท่ากับว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถปรับใช้ได้ทั้งคดีเยาวชน และ ผู้ใหญ่ อีกทั้งยังใช้ได้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ชั้นสอบสวน ชั้นก่อนหรือหลังดำเนินคดี และชั้นพิจารณาคดี เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณี ฟื้นฟูความสมานฉันท์ในสังคม ส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชนและป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

 

ความหมายของโลโก้ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

หลายคนที่สนใจงานด้านความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ อาจจะเคยเห็นสัญลักษณ์หรือโลโก้ ที่ TIJ ใช้เป็นตัวแทนการอธิบายความหมายคำว่า “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ หรือ Restorative Justice” มาแล้วหลายครั้ง
 
 
TIJ ใช้สัญลักษณ์นี้ครั้งแรกในการประชุมระดับชาติว่าด้วยความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (National Symposium) และยังคงใช้สัญลักษณ์นี้ต่อมา เช่น ใช้เป็นหน้าปกของ รายงาน เรื่อง Harmonious Justice: Thailand’s Approach to Restorative Justice (ภาษาอังกฤษ) และ รายงานความยุติธรรมสมัครสมาน: แนวทางของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมสมานฉันท์ (ภาษาไทย) ซึ่งในงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของการรับรองข้อมติสหประชาชาติ เรื่อง หลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ยังคงใช้สัญลักษณ์นี้เป็นหลักในการสะท้อนภาพ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์”
 
 
TIJ จึงอยากชวนทำความเข้าใจ “ความหมายที่ซ่อนอยู่ในภาพนี้” ไปพร้อม ๆ กัน
  1. กิ่งไม้มะกอก สัญลักษณ์ของสันติภาพ ความงอกงาม และความหวัง กิ่งไม้มะกอกที่หักแล้วเชื่อมประสานจนเติบโตต่อไปได้ เปรียบเหมือนกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ฟื้นคืนเยียวยาความเสียหายและฟื้นคืนความสัมพันธ์คู่กรณี
  2. ผ้าพันแผลสีส้มรูปกากบาท แสดงถึง การประสานกันด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จากข้อพิพาทของคู่กรณี
  3. มือสองมือที่รองรับกิ่งมะกอก เป็นส่วนหนึ่งของตราสัญลักษณ์ TIJ และ สื่อถึงการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรม
  4. นกพิราบ สัญลักษณ์ของสันติภาพ แสดงถึง สันติภาพที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ 
  5. Background สีน้ำ การใช้เทคนิคสีน้ำ แสดงถึง การผสมผสาน ละลายเข้าหากันของสี เปรียบเสมือนการประสานเข้าหากันของผู้กระทำผิดและผู้เสียหายด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์
 
 
แม้สัญลักษณ์นี้จะใช้สื่อความหมาย “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ในแบบฉบับเฉพาะของ TIJ แต่ความตั้งใจและความมุ่งหวังสำคัญ คือ การผลักดันให้เกิดการดำเนินงานผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เกิดขึ้นในสังคม และ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้แก่กระบวนการยุติธรรมไทยต่อไป

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลด
คู่มือว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่นี่
ความยุติธรรมสมัครสมาน: แนวทางของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรมสมานฉันท์ ที่นี่