หยั่งราก Social Enterprise ด้วยระบบนิเวศที่ต้องสร้างร่วมกัน

หยั่งราก Social Enterprise ด้วยระบบนิเวศที่ต้องสร้างร่วมกัน

สิ่งที่ตามมาจากความเติบโตทางเศรษฐกิจคือผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จนปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น สังคมจึงส่งเสียงให้ทุกคนหันมาสนใจแก้ปัญหาที่ร่วมกันสร้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญ

 

ที่ผ่านมามีโครงการซีเอสอาร์ผุดขึ้นมาจำนวนมาก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคม แต่ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องความไม่ยั่งยืน จนเกิดการทำธุรกิจในรูปแบบ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise – SE) หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม และมีการประกอบธุรกิจเพื่อให้องค์กรอยู่ได้

 

อย่างไรก็ตาม SE ในประเทศไทยกลับไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก หลายรายล้มหายไปด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่ไม่เอื้อให้ธุรกิจประเภทนี้แข่งขันกับธุรกิจเพื่อการค้าทั่วไปได้ เช่น การรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรในราคาเป็นธรรม เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปริมาณไม่มากนัก ทำให้ต้นทุนสูงกว่าสินค้าทั่วไป หากไม่มีตลาดรองรับอย่างชัดเจนก็ยากจะอยู่ได้ในระยะยาว

 

นอกจากปัจจัยแวดล้อมจากผู้บริโภคและภาคเอกชนแล้ว ภาครัฐเองก็พยายามพัฒนากฎหมายให้เข้ามารองรับ จึงเป็นที่มาของ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่สิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) ร่วมกับ เครือข่ายผู้เข้าร่วม Rule of Law and Development Program (RoLD Program) จัดงานเสวนาหัวข้อ ‘Thailand Social Enterprise : The Way Forward’ ขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ทางวิชาการ ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางในการพัฒนา SE อย่างรอบด้าน ครอบคลุมไปจนถึงแง่มุมด้านกฎหมาย ที่จะเข้ามาเสริมให้กิจการเพื่อสังคมเป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนได้

หัวใจของ Social Enterprise : สร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่ยั่งยืน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์

 

ธุรกิจในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาสังคมแบบหนึ่ง ซึ่งนำแนวคิดการบริหารงานอย่างเป็นระบบตามรูปแบบธุรกิจ มีจุดเด่นคือความยั่งยืน มาเพื่อพัฒนาสังคม

 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) กล่าวว่า กิจการเพื่อสังคมไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมามีองค์กรพัฒนาเอกชนและมูลนิธิต่างๆ ทำงานเพื่อมุ่งแก้ปัญหาสังคมอยู่แล้ว แต่องค์กรเหล่านี้อยู่ได้โดยพึ่งเงินสนับสนุน และอาจไม่สามารถดำเนินงานต่อเนื่องได้ ขณะที่ภาคธุรกิจหันมาทำกิจกรรมตอบแทนคืนสังคมมากขึ้น ผู้บริโภคก็มีความตระหนักว่าต้องร่วมกันแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงให้ความสำคัญต่อกระบวนการผลิตและผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการดำเนินการของธุรกิจที่นับวันจะส่งผลต่อสังคมมีมากขึ้นเรื่อยๆ

 

“ความท้าทายในประเด็น Social Enterprise ในประเทศไทย คือเรื่องการสร้างระบบนิเวศ ที่จะช่วยให้คนที่มี passionสามารถทำธุรกิจได้ มีองค์ความรู้เพียงพอที่จะบริหาร สร้างโมเดลทางธุรกิจที่ดี และตอบโจทย์ของผู้บริโภคและสังคม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะแรงจูงใจของการทำ SE ซับซ้อนกว่าการทำสตาร์ทอัพที่เน้นกำไรเป็นหลัก ดังนั้นระบบนิเวศที่จะมาช่วยสนับสนุนการทำงานของ SE จึงมีความสำคัญมาก

“การสร้างวัฒนธรรมและปลูกฝังความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างธุรกิจที่ดี และธุรกิจที่ไม่ดีนัก ของภาคประชาชน จะเป็นแรงกดดันที่สำคัญมากในการผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ หันมาร่วมพัฒนาสังคมอย่างจริงจัง เพราะประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ความเข้าใจความแตกต่างของ SE และธุรกิจทั่วไป ยิ่งมากเท่าไร ก็จะยิ่งเอื้อให้แต่ละภาคส่วนหันมามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมได้มากเท่านั้น” กิตติพงษ์กล่าว

 

สฤณี อาชวานันทกุล,ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม

 

ความท้าทายสำคัญของประเทศไทยคือ ความเข้าใจเกี่ยวกับ SE เพราะแม้จะเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว แต่การให้ความหมายของ SE ในสังคมไทย ก็ยังมีแง่มุมที่ไม่ชัดเจนนัก

 

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด อธิบายว่า SE ต้องเป็นกิจการที่มีพันธกิจในการก่อตั้งเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างของสังคมหรือชุมชน แล้วใช้องค์ความรู้ทางธุรกิจบริหารจัดการให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยไม่จำกัดว่าเป็นนิติบุคคลประเภทไหน และไม่ใช่โครงการระยะสั้น จากนั้นต้องมีรายงานติดตามผลลัพธ์ โดยประกาศอย่างชัดเจนว่าบรรลุเป้าหมายทางสังคมไปเพียงใด เพราะผลลัพธ์ทางสังคมจะเป็นหัวใจหนึ่งของ SE และเป็นตัวช่วยที่ทำให้SE รู้ตัวว่าบรรลุพันธกิจแค่ไหน และมีอะไรต้องปรับปรุง

สฤณีชี้ให้เห็นว่า SE มีความแตกต่างจาก CSR ตั้งแต่วิสัยทัศน์ในการก่อตั้ง เมื่อ SE ตั้งขึ้นมาด้วยเจตจำนงที่ต้องการแก้ปัญหาบางอย่างของสังคม ขณะที่ CSR เป็นการประกอบธุรกิจทั่วไปที่มีการรับผิดชอบต่อสังคมในหลายระดับ เช่น การคืนกำไรสู่สังคม การรับผิดชอบดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ SE กับ CSR จึงไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน และมีความแตกต่างตั้งแต่จุดเริ่มต้น

 

“กิจการเพื่อสังคมมีความยากในการดำเนินกิจการมากกว่าการประกอบธุรกิจทั่วๆ ไป นโยบายรัฐจึงควรส่งเสริมให้มีการทดลองให้เห็นรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างหลากหลาย สร้างแรงจูงใจให้คนอยากมาลองผิดลองถูก และเห็นโอกาสว่าแบบไหนจะมีโอกาสเติบโตได้มาก”

 

สำหรับประเด็นท้าทายในการประกอบกิจการเพื่อสังคม สฤณีมองว่าคือการเบี่ยงเบนหรือละทิ้งพันธกิจทางสังคมที่ประกาศไว้ตอนตั้งต้น หรืออาจสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้น้อยมาก สิ่งสำคัญจึงต้องมีการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมรวมถึงมีแรงกดดันทางสังคมด้วย แต่ควรปล่อยให้เป็นการกำกับดูแลโดยพลังของตลาด มากกว่าที่จะให้ใครคนใดคนหนึ่งมาตัดสินว่า SEนั้นทำกำไรมากไปหรือยัง

อย่าปล่อยให้ปลาเล็กว่ายนำ้โดดเดียว

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล

 

กิจการเพื่อสังคมจะเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เอื้อ และมีความเข้าใจถึงเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาจากธุรกิจทั่วไป

 

ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า SE ในประเทศไทยมีพัฒนาการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังมีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ เมื่อผู้ประกอบการมีใจทุ่มเท แต่ขาดทักษะการทำธุรกิจ จนกลายเป็นปลาตัวเล็กที่ว่ายในบ่อน้ำกว้างใหญ่มาก เติบโตยากเพราะสู้ปลาใหญ่ไม่ได้ เกิดการล้มแล้วตั้งใหม่เป็นวัฏจักรเหมือนพืชล้มลุก การฉุดปลาเล็กให้โตนั้น ภาคเอกชนต้องช่วยถ่ายทอดความรู้ สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แล้วเหลาแผนธุรกิจให้คม จะทำให้ SE เติบโตไปได้

 

“SE ใหญ่ควรช่วย SE เล็กด้วย ถ้าไม่มีคนช่วยเขาก็ลำบาก แต่ผลิตภัณฑ์ต้องสู้ในตลาดได้ ตอนนี้เห็นบริษัทเอกชนตั้งบริษัท SE ขึ้นมา แทนที่จะมาแข่ง อยากให้เอกชนหรือภาคราชการช่วยสนับสนุน SE เช่น การรับซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ” ม.ล.ดิศปนัดดา กล่าว

 

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับ SE ไทย ผศ.ดร.พิชญ์วดี กิตติปัญญางาม อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ เผยข้อมูลจากการสำรวจ ซึ่งตรงกับที่ ม.ล.ดิศปนัดดา ชี้ว่าปัญหาหลักของความล้มเหลวของ SE คือการขาดบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารกิจการและทำธุรกิจ และมี passion ในการแก้ปัญหาสังคมอยู่ในคนๆ เดียวกัน

 

ส่วนประเด็นความขาดแคลนที่รองลงมาคือเรื่องเงินทุน ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาการเบี่ยงเบนเป้าหมายทางสังคม เนื่องจากต้องเลือกระหว่างความอยู่รอด (เงิน) กับผลลัพธ์ทางสังคม

 

“กิจการเพื่อสังคมในไทยเกินครึ่ง อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องในการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของซัพพลายเออร์ เช่น จะทำนมออร์แกนิค แต่เกษตรกรไม่เอาด้วย เพราะทำให้ผลผลิตน้อยลง SE จึงต้องคิดโมเดลธุรกิจให้เกษตรกรด้วย บางกรณีต้องใช้เวลาสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ซึ่งส่งผลให้ SE มีต้นทุนเพิ่มสูงกว่าธุรกิจธรรมดา เพิ่มความท้าทายต่อการแข่งขันในตลาด”

 

จรัญพร เลิศสหกุล

 

ในขณะที่ จรัญพร เลิศสหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีน สไตล์ จำกัด เล่าประสบการณ์ว่า จากที่เคยทำมูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมมาก่อนแล้วพบปัญหาที่ทำให้องค์กรไปต่อไม่ได้ จึงตั้งกิจการเพื่อสังคมขึ้นมา เพื่อหวังให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำความรู้จากการทำมูลนิธิมาทำงานให้ความรู้ โดยเน้นกิจกรรมควบคู่กับการจำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

สำหรับการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม จรัญพรมองจากคาร์บอนฟุตพรินท์ว่า กิจกรรมที่ทำช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ อีกตัวชี้วัดคือจำนวนรายได้ที่ช่วยชุมชนผ่านการนำสินค้ามาจัดจำหน่าย

 

“การจะทำให้ SE ยั่งยืนได้ อยากให้หน่วยงานหรือธุรกิจต่างๆ มาซื้อสินค้าและบริการที่เราทำ ภาครัฐอาจมีนโยบายลดหย่อนภาษีปลายปีเมื่ออุดหนุน SE เพราะเรามีอุปสรรคที่ราคาสินค้าจะสูงกว่าราคาตลาด ที่สำคัญคืออยากให้เกิดการรวมกลุ่มของ SE ที่ทำงานแต่ละด้าน มาแลกเปลี่ยนความรู้ ช่วยเหลือกันว่าจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมให้มากขึ้นได้อย่างไร” จรัญพรกล่าว

 

ที่ผ่านมา แม้ยังไม่มีกลไกช่วยเหลือด้านกฎหมายต่อกิจการเพื่อสังคมโดยตรง แต่ก็มีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยประคับประคองการก่อตั้งของ SE นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาเพื่อสังคมและสื่อสารองค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำเสนอโครงการ SET Social Impact ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ทำหน้าที่เป็นช่องทางเชื่อมโยงภาคธุรกิจกับภาคสังคม ให้มาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคม รวมถึง วรมิตร ครุฑโต รองกรรมการผู้จัดการ SME Development Bank เล่าถึงการให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินทุนและการเชื่อมโยงกับตลาด และ ดร.ฎาฎะณี วุฒิภดาดร รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร ที่มาให้ความรู้ด้านกรมสรรพากรในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ SE ที่ตรงตามเงื่อนไข

 

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการยังคงต้องการกฎหมายที่มอบสิทธิประโยชน์แก่กิจการเพื่อสังคม อันจะเป็นความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ส่งเสริมให้กิจการประเภทนี้อยู่รอด

กฏหมายส่งเสริมวิสาหกิจ : เจตนาดี แต่ระวังถูกใช้เลี่ยงภาษี

ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์

 

สำหรับกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เตรียมเข้าสู่สภา มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2553 จนได้ร่างฉบับนี้ที่ให้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจเพื่อสังคม และให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุน

 

ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม เล่าว่ากฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการของ SE และภาคเอกชนที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนการทำเพื่อสังคม

กฎหมายฉบับนี้จึงมีเจตนารมณ์ คือ

1. ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมเกิดขึ้นแล้วอยู่รอด

2.ภาคเอกชนขนาดใหญ่เข้ามาทำงานเรื่องการพัฒนามากขึ้น เปลี่ยนซีเอสอาร์มาทำให้ยั่งยืนขึ้น

3.ให้ SE เป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้ระบบบริการสาธารณะมีทางเลือกและตอบสนองได้มากขึ้น

 

ณัฐพงษ์เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ จะช่วยสนับสนุนโดยเน้นความหลากหลาย และยังมีเรื่องกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มาจากเงินสมทบของSE เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนในระยะเริ่มก่อตั้ง และสามารถร่วมทุนเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพวิสาหกิจเพื่อสังคมได้

 

 

ด้าน ม.ล.ดิศปนัดดา มองว่าจะทำให้ภาคประชาชนเริ่มให้ความสนใจกับ SEมากขึ้นอย่างไร รวมถึงเรื่องที่มาของผลิตภัณฑ์ ว่าจะสร้างผลต่อสังคมอย่างไร โดยชี้ว่ากฎหมายค่อนข้างครอบคลุมแล้ว มีการกำหนดหลักเกณฑ์การจดทะเบียน SE ที่ชัดเจน แต่หากยังมีคนที่ไม่ใช่ SE เข้าร่วมได้อยู่ ก็อาจต้องปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมขึ้น

 

สฤณี แสดงความกังวลว่า ต้องระวังไม่ให้กฎหมายมาสร้างความชอบธรรมแก่โครงการ CSR ของภาคเอกชน ที่แปลงตัวเองเป็น SE โดยที่ไม่ใช่ SE จริงๆ อีกทั้งกังวลเรื่องกองทุนที่อาจละเลยหลักธรรมาภิบาล เมื่อมีอำนาจร่วมทุนโดยไม่ต้องส่งเงินเข้ารัฐ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์หรือคอร์รัปชันเชิงนโยบาย อีกทั้งอยากให้จัดทำเรื่องรายงานผลลัพธ์ทางสังคมให้ชัดเจนด้วย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้เป็นความหวังหนึ่งของผู้ประกอบการ ที่จะทำให้การก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมหยั่งรากลงในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน แต่ถึงที่สุดแล้วกลไกกฎหมายอาจไม่ใช่คำตอบเดียว ในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อให้กิจการเพื่อสังคมเติบโตได้ดี แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในสังคม ที่จะสนับสนุนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเติบโตไปได้

 

กิตติพงษ์ เผยว่า ในภาพใหญ่นั้น บทบาทของแต่ละภาคส่วนในการพัฒนาสังคมที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ คือภาครัฐกับภาคเอกชน แต่ยังมีอีกภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ และมีศักยภาพสูงในการร่วมพัฒนาสังคม นั่นคือภาค non-profit หรือที่ประเทศอังกฤษเรียกว่า Third Sector ที่ยังสามารถมีบทบาทเชิงรุกได้อีกมากกับการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม

 

ดังนั้นการมีกลไกหรือกระบวนการมาช่วยให้ภาค non profit สามารถทำหน้าที่ได้ ก็มีโอกาสที่จะไม่ต้องเลือกระหว่างอยู่รอดได้ หรือทำเพื่อสังคม ขณะเดียวกันก็มีความสำคัญมากในการช่วยปลดล็อกพลังแห่งการพัฒนาอีกมหาศาล

 

“เรื่องกฎหมายดูจะไม่เป็นปัญหา เพราะต้องถือว่าเป็น working process เหมือนมีบ้านให้อยู่ มีเครื่องมือครบ คนที่อยู่ในบ้านต้องได้รับการกลั่นกรอง แรกๆ อาจจะวุ่นวายหน่อย แต่ต่อไปก็จะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ตามประสบการณ์และความเข้าใจของบุคคลที่มีความ

เกี่ยวข้องเป็นหัวใจในการพัฒนา SE อย่างยั่งยืน

 

“ประเด็นความท้าทายเกี่ยวกับ SE ในสังคมไทยตอนนี้ คงไม่ได้อยู่ที่การมีหรือไม่มีกฎหมาย แต่อยู่ที่ว่ามีกฎหมายแล้ว จะทำอย่างไรให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือการต่อกรกับคำถามท้าทายที่ว่า เราทุกคนที่เป็นภาคประชาชน เป็นผู้บริโภค จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เกิดระบบนิเวศที่ดีได้อย่างไร” กิตติพงษ์กล่าวทิ้งท้าย

 

ที่มา :  https://www.the101.world/ecosystem-for-social-enterprise/