เมื่อพูดถึงกระบวนการยุติธรรม หลายคนคงคุ้นชินกับประโยค “คุกมีไว้ขังคนจน” ซึ่งเป็นคำพูดที่สะท้อนความไม่เชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมไทยว่าจะอำนวยความยุติธรรมให้ทุกคนได้อย่างเสมอภาค ยิ่งมีประเด็นร้อนแรงหลังค่าทนายความดังถูกเปิดเผยผ่านสื่อ พร้อม ๆ กับปรากฏการณ์จากข่าวรายวันที่ตอกย้ำว่า “ความยุติธรรมมีราคาที่ต้องจ่าย” ปลุกคนในสังคมให้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามซ้ำ ๆ ว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกันจริงหรือ?
TIJ Common Ground ภายใต้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดกิจกรรมขึ้นครั้งแรก ในประเด็น Rethinking Myths of Justice ยุติธรรม...ตามที่คุณเชื่อ(?) เพื่อนำเสนอมุมมองและชวนพูดคุยเรื่องราวความยุติธรรมในหลากหลายมิติ ซึ่งเวทีเสวนา “ความยุติธรรมมีราคาที่ต้องจ่าย” เป็นหัวข้อแรกที่ TIJ Common Ground นำงานวิจัยที่ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) จัดทำขึ้นเมื่อปี 2561 มาตีแผ่ให้เห็นต้นทุนในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทุกมิติ พร้อมชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมาพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และหาทางออกของปัญหาร่วมกัน
อ.ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส TDRI
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส TDRI ให้ข้อมูลว่า ค่าทนายความเป็นต้นทุนที่แปรผันมากที่สุดในกระบวนการยุติธรรม จากการสำรวจพบว่ามีราคาตั้งแต่ “หลักพันไปจนถึงหลักสิบล้านบาท” ในงานวิจัยจึงใช้โมเดลทางเศรษฐศาสตร์เพื่อหาค่าเฉลี่ยจากเงินเดือนทนายความ ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทคดี โดยคดีความที่ต้องใช้ระยะเวลานานจะมีค่าทนายความสูงตามไปด้วย เช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เพศ และร่างกาย ซึ่งใช้เวลาพิจารณาคดีเฉลี่ย 210 วัน 132 วัน และ 120 วันตามลำดับ จะมีค่าทนายความเฉลี่ย 94,000 บาท 58,000 บาท และ 53,000 บาท ตามลำดับ
ค่าทนายจำเป็นไหม? การใช้ทนายความขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของคดี โดยปกติในคดีอาญา อัยการจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนโจทก์ในขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาล แต่ผู้กล่าวหาสามารถจ้างทนายความส่วนตัวเพื่อฟ้องคดีได้ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาจะมีสิทธิตามกฎหมายที่จะมีทนายเป็นผู้แทนในการต่อสู้คดี ค่าทนายความจึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เพราะคนรวยมีโอกาสจ้างทนายความเก่ง ๆ ได้มากกว่า ส่วนคนที่ไม่มีเงินแม้จะขอ “ทนายความขอแรง” จากศาลได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่คนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าค่าทนายมีผลต่อความพยายามในการต่อสู้คดี ซึ่งงานวิจัยยังไม่ได้ประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการจ้างทนายความกับผลการพิจารณาคดีไว้
กระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะถูกจัดให้เป็นบริการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในทางปฏิบัติ คนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งฝั่งผู้กล่าวหาและฝั่งผู้ถูกกล่าวหา ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกจากค่าทนายเกิดขึ้นตลอดทาง ตั้งแต่กระบวนการสอบสวน กระบวนการสั่งคดี กระบวนการศาล และกระบวนการบังคับโทษ โดยมีทั้งค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อม ค่าใช้จ่ายทางตรงที่สำคัญ ได้แก่ค่าเดินทาง (ไปแจ้งความ ไปพบอัยการ ไปขึ้นศาล) ค่าพิสูจน์/หาหลักฐาน (ค่าตรวจดีเอ็นเอ ค่าตรวจเอกสาร ค่าหาหลักฐานจากกล้องวงจรปิด) ค่าถ่ายเอกสาร ค่าขอคำปรึกษาทางกฎหมาย เป็นต้น ส่วนค่าใช้จ่ายทางอ้อมหรือค่าเสียโอกาสที่ประเมินออกมาเป็นตัวเงินได้ ก็จะมีเวลาที่สูญเสียไปกับรายได้ที่ขาดหายไปเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ตัวอย่างค่าใช้จ่ายเมื่อพิจารณาจาก 3 ประเภทคดี ได้แก่ คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ พบว่า ค่าใช้จ่ายทางตรงกรณีไม่จ้างทนาย “ฝั่งผู้กล่าวหา” จะอยู่ที่ประมาณ 600-700 บาท และค่าใช้จ่ายทางอ้อม 500-600 บาท ขณะที่ฝั่ง “ผู้ถูกกล่าวหา” ค่าใช้จ่ายทางตรงกรณีไม่จ้างทนายในคดีเดียวกันอยู่ที่ 149,000 บาท 62,000 บาท 57,000 บาท ตามลำดับ และยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมอีกประมาณ 83,000 บาท 62,000 บาท และ 57,000 บาท ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายฝั่งผู้กล่าวหานั้นค่อนข้างถูก เพราะกระบวนการยุติธรรมได้ดูดซับต้นทุน
ทางสังคมไปค่อนข้างมาก ขณะที่ฝั่งผู้ถูกกล่าวหาถือว่าแพงทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการคุมขัง จะมีค่าเสียโอกาสในการทำมาหากิน หรือกรณีขอประกันตัวออกมาต่อสู้คดี ก็จะมีค่าเสียโอกาสในการนำเงินไปวางประกัน ซึ่งบางครั้งต้องไปกู้ยืมมา ยิ่งกู้นอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูง ๆ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนแพงขึ้นไปอีก
นอกจากค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องสัมผัสโดยตรงแล้ว ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ค่าใช้จ่ายของภาครัฐที่ต้องอำนวยความสะดวกต่อประชาชนในการเข้าสู่ระบบยุติธรรม ก็มาจาก “เงินภาษีของประชาชน” ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า ค่าใช้จ่ายภาครัฐที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ชั้นพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 125,000 บาทต่อคดี นั่นหมายความว่า หากข้อพิพาทมีมูลค่าต่ำกว่านี้ ก็ถือว่าผลประโยชน์ที่เกิดกับประชาชนน้อยกว่าต้นทุนที่ต้องเสียไป
คุณสิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและนักวิชาการอิสระจาก Shero Thailand
สิรินทิพย์ สมใจ ทนายความและนักวิชาการอิสระจาก Shero Thailand ได้แบ่งปันประสบการณ์ตรงในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศว่า ค่าใช้จ่ายที่องค์กรฯ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบเหตุอยู่ที่รายละประมาณ 8,000-10,000 บาท เฉพาะในกระบวนการขอคำคุ้มครองชั่วคราวเท่านั้น ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และจากกรณีตัวอย่างคดีที่ Shero ให้การช่วยเหลือ ยังพบว่ามีค่าเสียโอกาสบางอย่างไม่สามารถประเมินออกมาเป็นมูลค่าได้ เช่นการขาดงานในบางบริษัทจะถูกนำมาประเมินผลงานหรือมีผลต่อการถูกไล่ออก ค่าเสียโอกาสการศึกษา ค่าเสียโอกาสที่จะได้ตำแหน่งหน้าที่การงานในอนาคต รวมไปจนถึงการเสียสุขภาพจิตจากการที่ต้องกลับไปเผชิญหน้ากับผู้กระทำและความอึดอัดที่ต้องประสบตลอดกระบวนการยุติธรรม
คุณมนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรม
ปัจจุบันภาครัฐมีกลไกแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือผู้ไม่มีกำลังเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยตนเองโดย มนินธ์ สุทธิวัฒนานิติ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรมให้ข้อมูลว่า กองทุนฯ ให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางตรง ทั้งฝั่งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาในขั้นตอนก่อนการพิจารณาคดี โดยมีค่าตอบแทนทนาย ในการให้คำปรึกษากรณีละ 20 บาท ค่าปรึกษาประจำวัน วันละ 1,000 บาท ค่าทำคดีตั้งแต่ต้นจนจบเพดานสูงสุดอยู่ที่ 50,000 บาทต่อคดี ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเฉลี่ยรายละ 18,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการขอปล่อยตัวชั่วคราวค่าเฉลี่ยรายละ 400,000 บาท เงินเยียวยาผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิกรณีถูกคุมขังตัวแล้วไม่มีความผิด จะจ่ายเสริมกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเยียวยา เฉลี่ยรายละประมาณ 100,000 บาท นอกจากนี้ยังมีวงเงินสนับสนุนโครงการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน เฉลี่ยโครงการละ 100,000 บาท
อย่างไรก็ตาม มนินธ์ยอมรับว่า ปัจจุบันกระบวนการเพื่อพิจารณาช่วยเหลือผู้ร้องขอต้องใช้เวลานาน และต้นทุนในการดำเนินการตรวจสอบของหน่วยงานสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่ให้การช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือกรณีคนที่ทำผิดจริงแต่กระบวนการพิจารณาใช้เวลามากกว่าโทษที่ได้รับ เช่น ศาลตัดสินลงโทษ 3 เดือน แต่ถูกจำคุกจริงนานถึง 8 เดือน เป็นอีกกรณีที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่าจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไรในอนาคต
จากข้อมูลที่ ดร. นณริฏ นำเสนอ จะมี 3 โมเดลที่สังคมจะเป็นผู้เลือกว่าอยากให้ความยุติธรรม
อยู่ในระดับใด คือ โมเดลที่ไม่มีค่าบริการเลย โมเดลที่เก็บแพง ๆ และโมเดลที่เก็บระดับหนึ่งโดยมีกลไกการแทกแซงบางส่วนจากภาครัฐ ซึ่งในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์อยากให้เกิดความสมดุลระหว่างต้นทุนและผลประโยชน์ทางสังคม เพราะหากราคาถูกเกินไปจะกลายเป็นภาระรัฐซึ่งก็คือภาระของประชาชนในท้ายที่สุด แต่ถ้าแพงเกินไป ก็จะทำให้คนเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม
ลดความเหลื่อมล้ำ นริฎได้เสนอให้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมอย่างตรงจุด (Pain point) เมื่อคนจนยินดีจ่ายเวลา และคนรวยยินดีจ่ายเงิน บทลงโทษจึงต้องกลับกันคือให้คนจนจ่ายเงินและให้คนรวยจ่ายเวลา เพื่อลดแรงจูงใจในการกระทำความผิด
ลดค่าใช้จ่าย สามารถใช้เทคโนโลยี เช่น Zoom ช่วยลดต้นทุนในการเดินทาง ใช้เอกสารดิจิทัลเพื่อลดค่าถ่ายเอกสาร และในคดีที่โครงสร้างทั้งหมดคล้าย ๆ กัน เช่น คดีผู้บริโภค น่าจะพัฒนาระบบดิจิทัลเพื่อตัดค่าทนายออกไปได้
ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ใช้ Innovation มนินธ์มองว่าต้นทุนการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐถือเป็นอุปสรรคสำคัญหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการทำงานของระบบราชการ ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับมากขึ้นเมื่อเทียบกับต้นทุนดำเนินงาน แต่ก็นับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับราชการไทยที่ยังอยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจของประชาชน ขณะที่ตัวแทนจากภาคเอกชนได้ร่วมเสนอแนวทางการลดต้นทุนในการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น ระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรมผ่านแอพพลิเคชั่นที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้ ใช้งานง่ายเหมือนสั่ง Grab และการยื่นเรื่องฟ้องร้องด้วยตัวเองผ่านแอพพลิเคชั่น JusThat เป็นต้น
TIJ คาดหวังว่าการเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และมุมมองร่วมกันผ่าน TIJ Common Ground ในครั้งนี้ จะช่วยให้สังคมได้รับความรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เป็นประโยชน์สำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมในการกระจายบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างหลากหลาย และนำไปสู่แนวทางการทำงานที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางได้อย่างแท้จริง