ผู้หญิงในคุก ชีวิตคนหรือสูตรสมการ?

ผู้หญิงในคุก ชีวิตคนหรือสูตรสมการ?

 

“บางทีมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังอาจไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นคำถามทางมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน ว่าเรามองมนุษย์เป็นตัวแปรในสมการ หรือมองมนุษย์เป็นมนุษย์ ที่หนทางชีวิตลดเลี้ยวเคี้ยวคด มีปัจจัยรายรอบมากมาย ในเมื่อผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้ประกอบอาชญากรรมร้ายแรง ไม่เป็นอันตรายต่อใคร เรามีวิธีการอีกมากมาย ที่ไม่ใช่คุก"

ผู้หญิงในคุกคือประชากรกลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่งที่เรามองเห็นอย่างจำกัด เราไม่เข้าใจประวัติความเป็นมาของพวกเธอมากนัก และมักเข้าใจตามที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อกระแสหลักนำเสนอ ราวกับว่าเรามองเห็นพวกเธอผ่านกล้องส่องทางไกลที่สังคมหยิบยื่นมาให้อยู่แล้ว เรามักไม่รู้ข้อเท็จจริงสำคัญหลายประการเกี่ยวกับพวกเธอ

ข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิงในคุก หลากหลายกว่าภาพจำที่เรามี ผู้หญิงจำนวนมากในคุกไม่ได้เป็น “คนเลว” เหมือนที่สังคมตีตรา หลายคนเป็น “เหยื่อ” ด้วยซ้ำไป อย่างน้อยๆ ก็เป็นเหยื่อโครงสร้างสังคมเหลื่อมล้ำที่ไม่ปรานีผู้หญิงและคนยากคนจน ผู้หญิงในคุกบางคนติดคุกเพราะไม่มีอันจะกิน ทางเลือกสุดท้ายของพวกเธอจึงเป็นการลักเล็กขโมยน้อยมาจุนเจือครอบครัว ผู้หญิงบางคนไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ เข้าไม่ถึงการศึกษา เมื่อไร้สิ้นหนทางทำมาหากิน จึงรับจ้างส่งยาเสพติดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหาเงินเลี้ยงลูก สุดท้ายจึงมาจบลงในคุก ผู้หญิงบางคนถูกค้ามนุษย์และถูกบังคับมาขายบริการ แต่กลับถูกจับข้อหาค้าบริการ ผู้หญิงจำนวนมากในคุกเคยเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศมาก่อน จิตใจบอบช้ำจนต้องหันมาใช้ยาเสพติด หรือป้องกันตัวเองจากการถูกตบตีแล้วพลาดพลั้งไปทำร้ายแฟน สุดท้ายจึงติดคุก ผู้หญิงหลายคนตั้งครรภ์ระหว่างอยู่ในคุก มีลูกและพ่อแม่นอกคุกต้องดูแล

ชีวิตในคุกไม่เคยจบลงในคุก หรือบางคราก็จบ เพราะอัตราการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองของผู้หญิงในคุกสูงกว่าผู้ชายมาก การต้องโทษจำคุกส่งผลกระทบไม่ใช่แค่กับผู้หญิง แต่ยังส่งผลต่อครอบครัวและคนรอบตัวพวกเธอด้วย สภาพความเป็นจริงของชีวิตในคุกแสดงให้เห็นว่าเราไม่สามารถปฏิบัติกับผู้ต้องขังหญิงราวกับว่าชีวิตคนเป็นสูตรสมการ ที่ ‘ทำผิด’ หมายถึงการติดคุกเท่านั้น ดังนั้นเพื่อให้ระบบยุติธรรมปฏิบัติกับผู้หญิงในคุกอย่างเป็นธรรม เราจึงต้องการกล้องจุลทรรศน์มาช่วยให้เรามองเห็นชีวิตมนุษย์ชัดขึ้น และเข้าใจว่าระบบยุติธรรมต้องก้าวต่อไปเช่นไร

เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วที่ข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules)[1] ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ ให้ใช้เป็นมาตรฐานในการดูแลผู้หญิงในคุก ข้อกำหนดกรุงเทพช่วยให้คุกมองเห็นชัดขึ้น ว่า ‘ผู้หญิง’ ที่ถูกจำคุกมีความเปราะบางอย่างไร ทั้งผู้หญิงที่ติดคุกระหว่างตั้งท้อง ผู้หญิงที่มีลูกตามติดมาในคุกด้วย ผู้หญิงที่มีลูกและครอบครัวอยู่นอกคุกที่ตนต้องดูแล ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ ผู้หญิงที่ไม่ได้ทำอาชญากรรมที่ทำร้ายใคร - นอกเสียจากตัวเอง - และไม่ใช่เพราะพวกเธออยากทำ แต่เพราะสถานการณ์ชีวิตพาโซซัดโซเซไปเช่นนั้น พวกเธอเป็นใครมาจากไหน และคุกควรปฏิบัติกับพวกเธอเช่นไร หรือพวกเธอไม่ควรมาอยู่ในคุกแต่แรก?

ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นเหมือนกล้องจุลทรรศน์ ช่วยให้เรามองเห็นชีวิตผู้ต้องขังหญิงชัดเจนขึ้น สิบปีที่ผ่านมา มดงาน คนทำงาน กรมกองที่เกี่ยวข้อง ต่างพยายามเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติกับผู้หญิงในคุกให้ดีขึ้นตามข้อกำหนดกรุงเทพ

 

แต่นักโทษก็ยังล้นคุก

คุกทั่วโลกมีผู้หญิงอยู่เพียงร้อยละ 7 จากจำนวนนักโทษทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 7 แสนคน แต่จำนวนผู้หญิงในคุกกลับพุ่งสูงขึ้นจนน่ากังวล ผู้หญิงในคุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 53 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ส่วนผู้ชายในคุกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20  ผู้หญิงจำนวนมากอยู่ในคุกทั้งๆ ที่ยังไม่มีการพิจารณาคดี และทั้งๆ ที่คดียังไม่สิ้นสุดการตัดสิน[2]

ดังนั้นไม่ใช่แค่ว่าเราต้องปฏิบัติกับผู้หญิงในคุกเช่นไร แต่เราควรตั้งคำถามด้วยว่า แล้วคุกคือคำตอบเสมอไปหรือไม่ ในเมื่อผู้หญิงในคุกจำนวนมาก ไม่ได้ทำผิดร้ายแรง ไม่ได้เป็นอันตรายกับสังคมและคนรอบข้าง บางคนเป็นเหยื่อเองด้วยซ้ำ แล้วเรามีทางเลือกอื่นใดบ้าง? เราทำอะไรได้มากกว่านี้?

ข้อกำหนดกรุงเทพที่สหประชาชาติประกาศใช้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมาเป็นสิบปี ให้ความสำคัญกับ “ทางเลือกอื่น”  ที่อาจมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกว่าการจำคุก คือเราทำอย่างอื่นได้มากมาย มากกว่าแค่โยนคนเข้าคุก แต่บางทีขอบเขตของจินตนาการเราก็จำกัด

 

บางทีกล้องจุลทรรศน์อันเดียวอาจไม่พอ

จากข้อกำหนดกรุงเทพ นำมาสู่ Toolkit on Gender-Responsive Non-Custodial Measures (หรือคู่มือว่าด้วยมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขัง ซึ่งคำนึงถึงเพศภาวะ) ซึ่งเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ของสหประชาชาติ[3] ที่เป็นเหมือนกล้องจุลทรรศน์อีกอัน ช่วยให้สายตาของเรามองเห็นได้อย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น เรายังขาดแคลนเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นและเข้าใจความแตกต่างของเพศภาวะ เข้าใจวิธีการที่สังคมหล่อหลอมเพศ และปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ผู้หญิงต้องมาจบลงในคุก รวมถึงช่วยนำทางเราตั้งแต่ต้นจนจบ ว่าผู้หญิงในคุกเป็นใครมาจากไหน เผชิญอะไรบ้างตั้งแต่ถูกดำเนินคดี ทำไมเราจึงควรใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่การคุมขัง ควรใช้มาตรการเช่นนี้กับใครและที่สำคัญคือเราเลือกใช้มาตรการอะไรได้บ้าง และใช้อย่างไรให้เกิดผลสูงสุดต่อคนทุกคนในสังคม

ทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่การคุมขัง เป็นเรื่องปัจจุบันทันด่วน และจำเป็นยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ขณะที่นักโทษแทบทั่วโลกล้นคุกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากความเป็นอยู่ที่แออัด เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งในอเมริกาติดโควิดในคุก คลอดลูกขณะที่ต่อเครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตลงในที่สุด[4]

บางทีมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังอาจไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นคำถามทางมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน ว่าเรามองมนุษย์เป็นตัวแปรในสมการ หรือมองมนุษย์เป็นมนุษย์ ที่หนทางชีวิตลดเลี้ยวเคี้ยวคด มีปัจจัยรายรอบมากมาย ในเมื่อผู้หญิงเหล่านี้ไม่ได้ประกอบอาชญากรรมร้ายแรง ไม่เป็นอันตรายต่อใคร เรามีวิธีการอีกมากมาย ที่ไม่ใช่คุก

คู่มือชิ้นใหม่ Toolkit on Gender-Responsive Non-Custodial Measures ให้ทางเลือกที่มีมนุษยธรรม ที่หากทำได้ก็อาจแม้แต่แปรเปลี่ยนระบบยุติธรรมทางอาญา โดยรวบรวมมากจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและอดีตผู้ต้องขัง มีเป้าหมายให้ผู้คนในระบบยุติธรรมหยิบขึ้นมาอ่านมาใช้ รวมถึงใครก็ตามที่สนใจอยากรู้ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงระบบยุติธรรมได้อย่างไรบ้าง รายงานฉบับนี้ช่วยขยายมุมมองและขอบเขตจินตนาการ ทางเลือกที่ไม่ใช่คุกอาจดูแปลกใหม่และฟังดูน่าหวาดผวา แต่นักวิชาการและนักปรัชญาชาวอเมริกันที่ทำงานเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงระบบยุติธรรมและการจำคุกอย่าง แองเจล่า เดวิส ก็เคยกล่าวไว้ว่า

“Radical simply means "grasping things at the root.”

สิ่งที่ดูสุดโต่งนั้นหมายถึงเพียงการแก้ปัญหาที่ต้นตอ

 


บทความชิ้นนี้กลั่นกรองมาจากงานสัมมนาออนไลน์ Launch event: Toolkit on Gender-Responsive Non-Custodial Measures เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2020 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) โดยสามารถรับชมวีดีโองานสัมมนาออนไลน์ดังกล่าวได้ที่ https://www.tijthailand.org/en/highlight/detail/-launch-of-the-toolkit-on-gender

งานสัมมนาออนไลน์นี้จัดเป็นซี่รีย์ส์ และจะเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 

  • 4   มิถุนายน 2020   ว่าด้วย Promoting Alternatives to Imprisonment for Women in Conflict with the Law
  • 24 มิถุนายน 2020   ว่าด้วย Promoting the Social Reintegration of Women after Release

ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ https://www.tijthailand.org/highlight/detail/a-global-webinar-series

 


[1] ชื่อเต็มคือ ข้อกําหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสําหรับผู้กระทําผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders)

[2] ข้อมูลจากปี ค.ศ. 2017 บอกเราว่ามีผู้หญิงจำนวนกว่าสามล้านคนอยู่ในคุกระหว่างที่ยังไม่มีการพิจารณาคดี และระหว่างที่การพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด ซึ่งเมื่อเปรียบกับจำนวนผู้ชายในคุกแล้ว จำนวนผู้หญิงในสถานการณ์เช่นนี้มีสูงกว่า

[3] Toolkit on Gender-Responsive Non-Custodial Measures เป็นรายงานออกใหม่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จัดทำโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ United Nations Office on Drugs and Crime (UNODC)