คนแปลกหน้าท่าทางน่ากลัวที่แอบซุ่มมองเหยื่อจากมุมมืด คือ ภาพจำของคนทั่วไปเมื่อพูดถึงอาชญากรทางเพศ แต่จากงานวิจัยพบว่าประมาณ 91% ของผู้เสียหายคดีทางเพศในประเทศไทยรายงานว่า ผู้กระทำผิดเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกัน (1) เราอาจจะเคยได้ยินว่าในโลกแห่งความจริงนั้น ไม่มี “เหยื่อในอุดมคติ” หรือ Perfect Victim เพราะผู้ประสบความรุนแรงทางเพศทุกคนไม่จำเป็นต้องแสดงออกถึงความอ่อนแอ หวาดกลัว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตามที่สังคมคาดหมาย ในทำนองเดียวกัน ผู้กระทำผิดก็มีได้หลายลักษณะเช่นกัน
ในความเป็นจริงการจะบอกว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดทางเพศนั้นเป็นไปได้ยากอยู่แล้ว ทฤษฎีอาชญาวิทยาบอกไว้ว่ามีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลหนึ่งก่ออาชญากรรมทางเพศ โดยทั่วไปการศึกษาเกี่ยวกับผู้ที่มีพฤติกรรมล่วงละเมิดผู้อื่น (2) อาจแบ่งคร่าว ๆ ว่ามีเหตุมาจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน เช่นความผิดปกติของการทำงานสมอง ระดับของฮอร์โมนในร่างกาย ความชื่นชอบส่วนบุคคลในเรื่องเพศ (sexual preference) จินตนาการทางเพศ (sexual fantasies) หรือสภาวะความคิดของผู้กระทำความผิดที่มีความผิดปกติที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทางเพศที่แสดงออกมากับบุคคลอื่น และปัจจัยภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก ที่สร้างทัศนคติทางลบต่อความสัมพันธ์ชายหญิง ความรู้สึกสับสน อับอาย เกี่ยวกับความสัมพันธ์ใกล้ชิด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขาดตัวอย่างของการแสดงความรักที่เหมาะสมในวัยเด็ก และการเรียนรู้ที่จะใช้ความรุนแรงกลบเกลื่อนความรู้สึกทางลบ ความไม่เชื่อมั่นในความสัมพันธ์ หรือการแสดงความก้าวร้าวตอบโต้เมื่อถูกปฏิเสธ (3)
เรามีแนวโน้มจะเชื่อว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศต้องเป็นพวกที่มองแต่ไกลก็รู้ว่าเลว
“เดนสังคม” “โหดเหี้ยม” น่าหวาดกลัวน่ารังเกียจ ซึ่งเป็นภาพเชิงลบอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้กระทำความผิดในอาชญากรรมอื่น ๆ แต่ประเด็นที่ควรจะพิจารณาคือ ในความเป็นจริง มีผู้กระทำผิดทางเพศส่วนหนึ่งที่ “ดูดี” กว่าคนอื่น เป็นคนมีชื่อเสียง หน้าตาดี มีสถานะสูง เป็น “คนดี” ทึ่ใคร ๆ ต่างอยากเข้าหา มีคำอธิบายทางทฤษฎีบอกไว้ว่าคนกลุ่มนี้มักมีลักษณะร่วมคือยึดติดกับสถานะความเหนือกว่าของตนเอง เช่น เหนือกว่าในฐานะที่เป็นเพศชายที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม และเชื่อมโยงการพิชิตทางเพศเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจ คนกลุ่มนี้มักมีพฤติกรรมแสวงหาความสัมพันธ์ทางเพศระยะสั้น และอาจใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อล่อลวงหรือกดดันให้ได้มาซึ่งความสัมพันธ์นั้น (4) เมื่อประกอบกับลักษณะภายนอกของคนกลุ่มนี้ที่ช่างสอดคล้องกับมายาคติ “คนดี” สังคมมักจะเผลอเข้าข้างพวกเขาได้ง่าย ในมุมหนึ่งจึงอาจกล่าวได้ว่าสังคมช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับผู้ใช้ความรุนแรง และผลิตซ้ำวัฒนธรรมข่มขืน (Rape culture) อยู่อย่างต่อเนื่อง
ลองนึกภาพคนที่เกิดมารูปร่างหน้าตาได้มาตรฐานพิมพ์นิยม หรือมีฐานะทางบ้านก็เข้าขั้นน่าอิจฉา มีการศึกษา มีความสามารถ มีตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นที่ยอมรับทั่วไป หากผู้ชายคนนี้ถูกกล่าวหาว่ากระทำอนาจารผู้อื่น ความเห็นของคนในสังคมมักจะออกมาไม่กี่แบบ ที่เชื่อข้อกล่าวหาก็อาจจะบอกว่า “เสียดายจริง ดูเป็นคนดีไม่น่าทำแบบนั้นเลย” “โรคจิตมั้ย อาจจะต้องไปรักษา” หรืออาจจะถึงขนาดว่า “หล่อขนาดนี้พูดดี ๆ ก็ไปด้วยแล้ว ไม่เห็นต้องทำร้ายกัน” กลุ่มที่ไม่เชื่อก็จะเริ่มตั้งคำถามไปทางเหยื่อ เช่นว่า “เรื่องจริงรึเปล่า โดนแบล็กเมล์รึเปล่า” หรือแม้แต่ “ผู้หญิงก็ไม่เห็นจะสวยหาที่ไหนก็ได้ เขาจะทำทำไม” ไม่ว่าจะคิดจริงหรือคอมเมนต์แค่ “ขำ ๆ” ก็ตาม คำว่า “คนร้าย” “เลว” “เดนสังคม” มักจะไม่ปรากฎในบริบทแบบนี้ และที่แย่ไปกว่าการที่สังคมเข้าข้างว่าแบบนี้ดูเป็นคนดี ก็คือตัวของผู้กระทำเองก็มักจะเชื่อด้วยเหมือนกันว่าเขาเป็น “คนดี” และผู้หญิงคนไหนที่เขาสนใจก็ถือว่า “โชคดี” อันที่จริง มีงานวิจัยจำนวนมากที่สรุปว่าผู้มีพฤติกรรมข่มขืนมักจะเชื่อว่าตัวเขานั้นมีคนสนใจและอยากจะมีเพศสัมพันธ์ด้วยมากกว่าความเป็นจริง หรือเรียกว่ามีความ “หลงตัวเองทางเพศ” (Sexual narcissism) อยู่บ้างนั่นเอง
ความหลงตัวเองทางเพศนี้ สามารถทำให้คน ๆ หนึ่งตีความความสัมพันธ์ การให้ความยินยอม และสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย อย่างเข้าข้างตัวเองผิดไปไกล ยิ่งประกอบกับค่านิยมในสังคมที่กดทับการแสดงออกถึงความสนใจทางเพศของผู้หญิงมาตลอด ทำให้มีผู้ชายถึง 1 ใน 4 เชื่อว่าฝ่ายหญิงมักจะไม่กล้าบอกชัดเจนเมื่อต้องการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายควรโน้มน้าว เกลี้ยกล่อม บ่ายเบี่ยงพอเป็นพิธี (ซึ่งจากการสำรวจเดียวกันพบว่ามีผู้หญิงแค่ 1 ใน 10 ที่คิดแบบนั้น) (5) เมื่อความหลงตัวเองทางเพศเจอกับแนวคิดนี้ เสริมแรงด้วยเสียงชื่นชมเชิดชูจากสังคมที่มีต่อคุณลักษณะในอุดมคติของผู้กระทำ จึงทำให้ผู้กระทำเชื่อไปว่าพฤติกรรมล่วงละเมิดที่ตนทำนั้นไม่ได้ผิดอะไรเลย มีแต่จะให้ความสุขอีกฝ่ายด้วยซ้ำ การแสดงออกของคนกลุ่มนี้เมื่อเกิดเป็นคดีความจึงมักเป็นการอธิบายตัวเองว่าบริสุทธื์ใจอย่างนั้นอย่างนี้ มากกว่าการสำนึกผิดจริงๆ
กรณีแบบนี้มีไม่เยอะหรอก?
ความรุนแรงทางเพศมักจะมีการรายงานต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิด ลวนลาม อนาจารหรือข่มขืน เพราะฝ่ายที่ถูกกระทำมักจะอับอาย ไม่ต้องการให้ใครรู้ ประกอบกับส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสถานที่ปิดระหว่างสองฝ่าย ทำให้ยากที่ผู้ถูกกระทำจะมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนพอ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ หากผู้กระทำเป็นคนที่ดูดีในสายตาของสังคมอย่างที่กล่าวมา หรืออยู่ในสถานะที่เหนือกว่า ผู้ถูกกระทำจะยิ่งรู้สึกสิ้นหวังไร้ทางสู้ กรณีแบบนี้จึงมีการดำเนินคดีน้อยมาก การที่สังคมเข้าใจว่าหน้าตาและคุณลักษณะภายนอกทั้งหลายไม่ได้ตัดสินว่าคนหนึ่งคนจะมีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศผู้อื่นหรือไม่ อาจจะช่วยลดการตั้งคำถามในเชิงโทษเหยื่อหรือตัดสินเหยื่อ และทำให้ผู้ถูกกระทำกล้าที่จะเรียกร้องความยุติธรรมมากขึ้น
ผู้กระทำเชื่อจริง ๆ ว่าตนเองไม่ผิด แปลไม่ต้องรับโทษหรือเปล่า?
ตามที่กล่าวไปแล้วว่า ผู้กระทำกลุ่มนี้ส่วนใหญ่หากถูกถามว่าความรุนแรงทางเพศคืออะไร มักจะตอบได้ดี แต่เมื่อต้องอธิบายการกระทำของตนที่อาจจะเข้าข่ายความรุนแรงนั้นกลับเลือนไป เพราะตน “ไม่ใช่คนแบบนั้น” “มันไม่เหมือนกัน” (6) ดังนั้น การกระทำผิดหลายกรณีไม่ได้เกิดจากความไม่รู้แต่เกิดจากการเข้าข้างตัวเอง ซึ่งก็ไม่ได้ต่างกับผู้กระทำผิดคดีอื่นทั่ว ๆ ไป ที่ล้วนมีเหตุผลของตน เช่น ไม่ได้ตั้งใจฆ่าแต่โดนทำร้ายก่อน (ทั้งที่เตรียมปืนมาจากบ้าน) การทำความเข้าใจผู้กระทำผิดทางเพศกลุ่มที่ไม่ได้ตรงกับภาพจำนี้ จึงไม่ใช่เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ แต่เพื่อเรียนรู้ว่าค่านิยมทางสังคมบางอย่างที่เป็นอยู่อาจกำลังหล่อหลอมให้วัฒนธรรมความรุนแรงทางเพศคงอยู่ โดยเลือกที่จะปล่อยผ่าน “หยวน” ให้กับคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
แล้วควรแก้ปัญหายังไง?
การจะสะท้อนให้คนสักคนได้เข้าใจว่ามุมมองของเขาที่มีมาตลอดชีวิตนั้นแท้จริงแล้วบิดเบี้ยวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งสำหรับในสังคมไทยที่ไม่ได้ก้าวหน้ามากนักในเรื่องการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย (เห็นได้ชัดเจนจากการที่การที่สามีข่มขืนภรรยา เพิ่งเป็นความผิดตามกฎหมายได้แค่สิบกว่าปี และจนถึงวันนี้ก็ยังมีคนไม่เห็นด้วยอยู่) หรือการที่คนจำนวนไม่น้อยยังมองพฤติกรรมที่เข้าข่ายการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องตลกขบขัน แม้แต่เป็นความบันเทิง หรือบางส่วนก็รับรู้แต่พยายามลดทอนความรุนแรง ไม่ยอมรับที่จะจัดการหรือเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นสิ่งที่เคยปฏิบัติได้ในสังคมโดยไม่โดนประนามมาก่อน หัวใจสําคัญของการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ นอกจากต้องไม่ตัดสินคนจากภาพลักษณ์ภายนอก การปลูกฝังเรื่องการเคารพสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่นก็สำคัญมาก การเปิดใจต่อค่านิยมเรื่องมาตรฐานการเคารพกันให้มากขึ้นในทุกด้าน ถือเป็นพัฒนาการหนึ่งของสังคมที่ปรับเปลี่ยนเพื่อให้สมาชิกทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขปลอดภัย เพราะความเท่าเทียมเป็นพื้นฐานแรกของการลดความรุนแรงทุกรูปแบบที่แอบแฝงอยู่ในสังคมมนุษย์นั่นเอง
References