TIJ ในการประชุม CCPCJ สมัยที่ 32

TIJ ในการประชุม CCPCJ สมัยที่ 32

- TIJ ในฐานะ PNI และผู้ประสานงาน PNI ร่วมจัดกิจกรรมหลักและกิจกรรมคู่ขนานเพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

- นำเสนอพัฒนาการและการผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพในเวทีระหว่างประเทศ

- ผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมของข้อมติการนำกีฬาไปใช้เพื่อการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน

- ตั้งเป้าเสริมพลังความร่วมมือระหว่างเครือข่าย UN-PNI

 

ในแต่ละปี สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNODC จะมีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นสมัยที่ 32 ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ 17-28 พฤษภาคม 2566 เป็นการประชุมภายใต้ธีมงาน “การยกระดับกลไกการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพื่อรับประกันการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและสร้างความตระหนักถึงสังคมที่ปลอดภัยและมั่นคง” และในครั้งนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาหรือ UN-PNI ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการประชุมเพื่อนำเสนอทิศทางและนโยบายด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมระดับระหว่างประเทศ รวมไปถึงนำเสนอแนวทางปฏิบัติที่ดีในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

 

วันนี้ เราจึงได้มาพูดคุยกับ กิตติภูมิ เนียมหอม
ผู้อำนวยการสำนักกิจการระหว่างประเทศและประสานนโยบาย
ของ TIJ ที่จะมาแลกเปลี่ยนถึงบทบาทของ TIJ และความสำคัญของการเข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้

 

 

 

 

 

TIJ ในฐานะ PNI และผู้ประสานงาน PNI ร่วมจัดกิจกรรมหลักและกิจกรรมคู่ขนานเพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

 

“บทบาทของ TIJ ที่สำคัญในปีนี้ อาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ หนึ่งในฐานะผู้ประสานงานของ PNI Network และบทบาทที่สองคือในเชิงของการเป็นหน่วยงานที่ร่วมกับรัฐบาลไทยผลักดันข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง หรือข้อกำหนดกรุงเทพ”  กิตติภูมิ กล่าว และว่า การประชุมในปีนี้มีความสำคัญเพราะเรากลับมาเจอกันในรูปแบบออนไซต์เป็นครั้งแรก ภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในช่วงนั้นเราก็มีการจัดประชุมกันแบบออนไลน์มาตั้งแต่ในปี 2563 และก็เป็นช่วงเดียวกับที่ TIJ ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้ประสานงานของ PNI (PNI Coordinator) ดังนั้นปีนี้ก็ถือเป็นปีแรกที่เราจะได้ทำหน้าที่ PNI Coordinator ออนไซต์ด้วย

 

“กิจกรรมที่เราร่วมในฐานะ PNI Coordinator ที่เห็นได้ชัดคือเป็นผู้ดำเนินงานจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (PNI Workshop) ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institute of Justice หรือ NIJ) ภายใต้หัวข้อ “Enhancing the functioning of the criminal justice system to ensure access to justice and to realize a safe and secure society” ในวันแรกของการประชุม โดยเป็นการประชุมที่เราได้ร่วมออกแบบกิจกรรมและจัดเตรียมงาน” กิตติภูมิ กล่าว

สำหรับการประชุม PNI Workshop ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับการเข้าถึงความยุติธรรมในบริบทต่างๆ แบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้เสียหาย การให้ความคุ้มครองต่อผู้เสียหาย พยาน และผู้กระทำผิด และแนวทางการส่งเสริมสังคมให้มีความสงบสุข และมีส่วนร่วมในด้านความยุติธรรม และ ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันฯ ยังได้ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ รวมทั้งมีการเผยแพร่ PNI Newsletter ซึ่ง TIJ เป็นผู้ประสานงานและจัดทำเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่ผู้เข้าร่วมงานอีกด้วย

 

นำเสนอพัฒนาการและการผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพในเวทีระหว่างประเทศ

ส่วนในเรื่องการผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพ TIJ ร่วมจัดกิจกรรมคู่ขนานกับสำนักงาน UNODC ในหัวข้อ “Expanding the Promise of the Bangkok Rules: Towards Gender Responsive and Inclusive Justice for All” ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้อกำหนดกรุงเทพ ตั้งแต่พัฒนาการจากต้นกำเนิดจากพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ สู่ความสำคัญและผลสำเร็จในการอนุวัติข้อกำหนดในปัจจุบันและการขยายผลพระปณิธานอันเป็นพื้นฐานของข้อกำหนดกรุงเทพฯ ไปสู่ทุกภาคส่วน โดยระหว่างที่กิจกรรมดำเนินไป ผู้ร่วมเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองต่อความสำคัญและทิศทางในการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพฯ รวมถึงข้อเสนอแนะในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพฯ ในระดับระหว่างประเทศของสถาบันฯ ต่อไปในอนาคต

 

ในกิจกรรมคู่ขนานครั้งนี้มีผู้อภิปรายประกอบด้วย Ms. Ghada Fathi Waly ผู้อำนวยการสำนักงาน UNODC ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันฯ Ms. Tomoko Akane ผู้พิพากษาศาลอาญาระหว่างประเทศ Mr. Taro Morinaga ผู้อำนวยการสถาบัน UNAFEI และ Ms. Olivia Rope ผู้อำนวยการองค์กร Penal Reform International และมี ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

“ไฮไลท์ของงานผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพยังรวมถึงการจัดนิทรรศการ From Dark to Light: the Bangkok Rules and the Future of Women Prisoners ที่ช่วยเผยแพร่ผลงานของ TIJ ในการสร้างความตระหนักรู้และเผยแพร่แนวทางการปฏิบัติที่ดีในการนำข้อกำหนดกรุงเทพฯ ไปปรับใช้ในบริบทของประเทศต่างๆ” กิตติภูมิ กล่าว นิทรรศการดังกล่าวมีการใช้แผนที่แบบ interactive ที่ร่วมจัดทำกับองค์กร Panel Reform International อีกทั้งมีการนำแรงบันดาลใจจากโครงการปรับปรุงเรือนพธำรง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง TIJ กับทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพมาจัดแสดง และนำเสนอในรูปแบบของเทคโนโลยี VR ที่จำลองการเยี่ยมชมเรือนพธำรงค์ที่เชียงใหม่ได้อย่างเสมือนจริง 

ในแง่ของการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง TIJ ยังได้ร่วมรับฟังในการประชุมในกิจกรรมคู่ขนานในหัวข้อ "A Forgotten Population: the Treatment of Prisoners in Challenging Times" - Meeting of the Group of Friends of the Nelson Mandela Rules อีกด้วย

 

ผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมของข้อมติการนำกีฬาไปใช้เพื่อการป้องกันอาชญากรรมในกลุ่มเยาวชน

 

กิตติภูมิ เล่าว่า สำหรับการนำเสนอข้อมติ (Resolutioin) แม้ TIJ จะไม่ได้ร่วมนำเสนอในปีนี้ แต่ก็มีพัฒนาการจากการร่วมกับรัฐบาลไทยนำเสนอข้อมติ Integrating Sport into Youth Crime Prevention and Criminal Justice ในเวทีการประชุม CCPCJ สมัยที่ 28 ในปี 2562 และการประชุม Crime Congress สมัยที่ 14 ในปี 2563 ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของกีฬาว่าเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ทุกภาคส่วนตระหนักว่ากีฬามีส่วนช่วยในการส่งเสริมและฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดและเด็กกลุ่มเสี่ยงให้ได้ฝึกฝนกีฬาควบคู่กับการพัฒนาทักษะชีวิต ให้กลับมาอยู่ในสังคมและมีชีวิตที่ปกติสุขได้

 

ในปีนี้ TIJ ได้รับเชิญเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานจัดโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) และสำนักงาน UNODC ในหัวข้อ “Team up against Crime: Strengthening the Role and Contribution of Sports in the Context of Multisectoral Partnership for Youth Crime Prevention โดย การประชุมนี้แสดงถึงความก้าวหน้าในการนำข้อมติมาใช้ในระดับระหว่างประเทศ โดยมีการนำเสนอแผนงานและความก้าวหน้าของ Youth Crime Prevention through Sport (YCP) ของ UNODC ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมไปถึงสโมสรกีฬาBounce Be Good: เด้ง ได้ ดี ในประเทศไทยด้วย

 

ตั้งเป้าเสริมพลังความร่วมมือระหว่างเครือข่าย UN-PNI

กิตติภูมิ กล่าวด้วยว่า มีความมุ่งหวังว่าในการประชุม CCPCJ ในอนาคต TIJ ในฐานะ UN-PNI และ PNI Coordinator จะมีบทบาทในการสร้างให้เกิดความร่วมมือที่เข้มข้นและแข็งแกร่งมากขึ้นระหว่างเครือข่าย PNI ด้วยกันและผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาล เอกชน และประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยมองถึงการนำเสนอองค์ความรู้จากเครือข่าย PNI อย่างเข้มข้นผ่านการเผยแพร่ Newsletter ในสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น Instagram และ LinkdIn เพื่อให้มีการนำเนื้อหาไปใช้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งให้เครือข่าย PNI ร่วมผลักดันประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน อย่างเรื่องของความยุติธรรมสมานฉันท์ และการใช้นวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม โดยอาจมีการจัดเวทีหารือในประเด็นเฉพาะดังกล่าวมากขึ้น

“การผลักดันให้ PNI เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในระดับระหว่างประเทศจะช่วยเสริมสร้างให้เครือข่าย PNI เข้มแข็งขึ้น และนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิด ให้ประโยชน์ต่อสังคมได้มากขึ้น” กิตติภูมิ กล่าวปิดท้าย
 

--

ตัวอย่างกิจกรรมคู่ขนานอื่นๆ ที่ TIJ เข้าร่วม

โครงการความยุติธรรมโลก (World Justice Project หรือ WJP) จัดกิจกรรมคู่ขนานในหัวข้อ “Towards People-Centered Justice: Advancing Collaboration with Data in Southeast Asia” เพื่อส่งเสริมการนำข้อมูลไปใช้ในการทำความเข้าใจความต้องการด้านความยุติธรรมของประชาชน และนำไปสู่การพัฒนาระบบยุติธรรมที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเครื่องมือในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความยุติธรรมหรือ Justice Needs Survey ที่ได้นำมาปฏิบัติใช้จริงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วน เพื่อการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง



การเข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนานจัดโดย UNAFEI ในหัวข้อ “PNI Efforts to Reduce Reoffending through Technical Assistance” เป็นต้น ตลอดจนร่วมการประชุมเครือข่าย PNI เพื่อเสนอความคืบหน้าของกิจกรรมที่ดำเนินอยู่และแสวงหาความร่วมมือกับสถาบันเครือข่าย PNI อื่นๆ ต่อไป

 

ทั้งนี้ การประชุม CCPCJ เป็นการประชุมที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาทุกปี นับตั้งแต่ปี 2549 เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนโยบายในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมในระดับระหว่างประเทศ โดยมีสมาชิกประเทศทั้งหมด 40 ประเทศ และมีการจัดประชุมปีละ 2 ครั้งเป็นประจำทุกปี โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบาย นักปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐบาล ผู้เชี่ยวชาญ และภาคประชาสังคม การประชุม CCPCJ เป็นการประชุมเตรียมการไปสู่การนำเสนอมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในที่ประชุม UN Crime Congress ซึ่งจะจัดขึ้นทุก 5 ปี และครั้งล่าสุดจัดขึ้นในปี 2564 ที่มหานครเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น